Image

รีวิว/วิเคราะห์ส่วนผสม ครีมเจล Nutradeica จาก ISDIN ครีมเจลสุดดีงามที่ออกแบบมาเพื่อเอาใจคนมีปัญหากับการใส่ mask

จากที่หลายวันก่อนได้ Preview ครีมเจล Nutradeica ของแบรนด์ ISDIN ไป วันนี้ขอมารีวิวแบบละเอียดๆ กันอีกสักครั้ง

น้องเป็นครีมเจลที่พัฒนามาสำหรับดูแลผิวที่มีปัญหาความมันส่วนเกิน มันจนระคายเคืองหรือมีรอยแดงง่าย หรือผิวมันระหว่างวัน รวมไปถึงปัญหาระคายเคืองจากการใส่ Mask และความไม่สบายผิวจากเซ็บเดิร์ม

น้องมีหน้าตาประมาณนี้ค่ะ

ตัวแพคเกจหลักมาในรูปแบบหลอด

เนื้อครีมมาในรูปแบบของครีมที่ดูแล้วมีความคล้ายกับเจล ไม่มีกลิ่น เพราะไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม

เกลี่ยได้ค่อนข้างง่าย ให้ความรู้สึกสดชื่น สบายผิว ไม่เหนอะหนะ

ก่อนจะไปรีวิวส่วนผสม ขอเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยก่อนนะคะ

ถ้ากล่าวถึง Seborrheic dermatitis (SD) หรือที่รู้จักกันในนามย่อๆว่า เซ็บเดิร์ม นั้น SD ถือว่าเป็น 1 ในอาการผิดปกติทางผิวหนังที่พบได้บ่อยอาการหนึ่ง โดยอาจพบได้ถึง 10% ของประชากรเลยทีเดียว

ความน่ารำคาญอย่างหนึ่งของ SD คือ นางจะเป็นคล้ายๆ อาการเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ หายแล้วก็กลับมาใหม่ ซึ่งก็เรียกได้ว่ารบกวนชีวิตไม่น้อย

บริเวณที่เป็น SD ได้บ่อยจะเป็นบริเวณที่มีต่อมไขมันอยู่เยอะ อย่าง หน้า หนังศรีษะ แผ่นหลัง หน้าอก รวมถึงบริเวณข้อพับ รอยต่อต่างๆ เช่นขอบจมูก

SD นั้นเป็นอาการที่แบบเรียกได้ว่ายังงงๆ ว่าน้องจะเป็นอาการกลุ่มไหนกันแน่ ระหว่าง ผิวอักเสบ (Dermatitis) ติดเชื้อยีสต์ หรือ แค่การอักเสบเฉยๆ เพราะมีการค้นพบว่าสาเหตุหลักของการเกิด SD นั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 ประการ ตามภาพ

โดยเชื่อกันว่าผู้ที่มีความไว ร่างกายจะมีกลไกอะไรบางอย่างไปเปลี่ยนยีสต์ Malassezia จากที่เคยเป็นเจ้าบ้านผู้น่ารักให้กลายเป็นตัวที่สร้างสารก่อการอักเสบออกมา ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันและอื่นๆ จนเกิดอาการของ SD ต่อไป (Dessinioti and Katsambas. Clin Dermatol. 2013;31(4):343-351.)

อาการหลักๆ ของ SD ที่พบได้บ่อยก็จะเป็น ผิวเป็นขุย ผิวมีรอยแดง และ คัน

ซึ่ง Nutradeica พัฒนามาตอบกลไกทั้ง 3 นี้ได้อย่างครบและลงตัว

โดยทางแบรนด์ได้ทดสอบแล้วพบว่า แลทั้ง 3 ปัญหาของ SD ได้อย่างลงตัว และรู้สึกได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ทา

(Image from ISDIN)

สำหรับการเลือกใช้นั้นทางแบรนด์ก็ทำ Guide มาให้ประมาณนี้ค่ะ

(Image from ISDIN)

ส่วนผสมเป็นดังนี้ค่ะ

จากส่วนผสมวันนี้ ขอกล่าวถึงชุดผสม Combination พิเศษ ของ Piroctone olamine, Zinc PCA, hydroxyphenyl propamidobenzoic acid, biosaccharide gum-2 และ stearyl glycyrrhetinate ซึ่งเป็น Combination สูตรเฉพาะของทางแบรนด์ ที่มีการศึกษาและตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติหลายฉบับถึงประสิทธิภาพในอาสาสมัครเป็น SD ชนิดไม่รุนแรง และในอาสาสมัครที่มีปัญหาการระคายเคืองจากการสวม Mask รวมทั้งพวกสิวจาก Mask

ลองมาดูประโยชน์ของ combination นี้กันนะคะ

  • การศึกษาในปี 2019 ของ Granger และคณะ ศึกษาประสิทธิภาพของส่วนผสม combination นี้ ในผิวหนังเพาะเลี้ยง พบว่าลดจำนวนของยีสต์ M. furfur และสารก่ออักเสบ IL-1 และ TNF-α ลงได้ โดยผลของการลดสารก่อการอักเสบนั้นมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับสเตียรอยด์อ่อนๆ Hydrocortisone (Granger, et al. Dermatol Ther (Heidelb). 2019;9:571–578)
  • การศึกษาในปี 2019 ของ Dall’Oglio และคณะ ศึกษาประสิทธิภาพของสูตรผสม 3 อย่าง piroctone olamine, stearyl glycyrrhetinate, และ zinc PCA ในอาสาสมัครที่เป็น SD เป็นเวลา 60 วัน พบว่าเริ่มสังเกตอาการที่ดีขึ้นได้ตั้งแต่วันที่ 15 หลังจากใช้ตำรับ (Clinical, Cosmetic and Investigational Dermatology 2019:12 103–108)
  • การศึกษาเมื่อปี 2020 ของ Balato และคณะ ได้ศึกษาประสิทธิภาพของครีม Nutradeica DS ที่มีส่วนผสมของ combination นี้ ในอาสาสมัครที่เป็น SD จำนวน 12 คน ให้ทาวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 14 วัน พบว่าอาสาสมัครมีอาการที่ดีขึ้น ทางผู่วิจัยได้วัดปริมาณเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus epidermidis และยีสต์ M. furfur ที่อาจจะเกี่ยวกับ SD ก็พบว่าลดลง และปริมาณการสร้างสารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบต่างๆ ก็ลดลง โดยรวมก็คือ ครีมมีประสิทธิภาพดีในการลดอาการระคายเคือง และจำนวนเชื้อก่อโรค (Balato, et al. Dermatol Ther (Heidelb). 2020;10:87–98)
(Balato, et al. Dermatol Ther (Heidelb). 2020;10:87–98)

อีกชิ้นที่น่าสนใจคือการศึกษาเมื่อปี 2020 ของ Fabroccini ได้ศึกษาประสิทธิภาพของตำรับ Nutradeica ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องสวม mask เป็นเวลานานๆ โดยให้ทาครีมวันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 28 วัน พบว่า อาการคัน ระคายเคือง ความรู้สึกไม่สบายผิว และผิวแห้งลดลง โดยเริ่มเห็นผลตั้งแต่วันที่ 7 หลังใช้

(Image from ISDIN)

มาทำความรู้จักส่วนผสมบางตัวกันดีกว่านะคะ

  • Hydroxyphenyl Propamidobenzoic Acid ตัวนี้เป็นสารอนุพันธ์ของ Avenanthramide ที่พบได้ในข้าวโอ๊ต ข้อมูลจากผู้ผลิตวัตถุดิบกล่าวว่า สารดังกล่าวมีคุณสมบัติลดการอักเสบระคายเคือง และอาการคันได้ โดยออกฤทธิ์ผ่านกลไกของสารก่อการแพ้อย่าง Histamine
  • Biosaccharide gum-2 คาร์โบไฮเดรตที่ได้จากการหมักจุลินทรีย์ เป็นสารประกอบคาร์โบไฮเดรตของน้ำตาล Rhamnose กับน้ำตาลอื่นๆ มีประโยชน์ในการดูแลด้านการอักเสบ รอยแดง ข้อมูลจากผู้ผลิตวัตถุดิบกล่าวว่า นางทำหน้าที่เป็น Glyco-messenger ที่ลดการทำงานของสารก่อการอักเสบอย่าง IL-1
  • Stearyl Glycyrrhetinate เป็นสารดัดแปลงจาก Glycyrrhetinic acid ที่ได้จากชะเอม มีบทบาทในการดูแลเรื่องการอักเสบ และให้ความรู้สึกสบายผิว
  • Zinc PCA เป็นสารลูกผสมของแร่ธาตุ Zinc ที่มีคุณสมบัติที่ดีกับผิวหลายอย่าง ซึ่งจะเด่นไปในทางด้านควบคุมความมัน กับ PCA ที่เป็นสารจับน้ำ ข้อมูลจากผู้ผลิตวัตถุดิบกล่าวว่า สารนี้มีประโยชน์เป็นสารเติมน้ำให้ผิว (Humectant) ระงับเชื้อบางชนิด ควบคุมความมัน ชะลอวัยและดูแลเรื่องริ้วรอย บางรายงานกล่าวว่า Zinc ยังไปยับยั้งเอนไซม์ 5α-reductase (Dermatol. Res. Pract. 2014;2014:709152) ที่เป็นเอนไซม์ที่เปลี่ยนฮอร์โมนเพศชาย testosterone ได้เป็น dihydrotestosterone ที่มีฤทธิ์แรงขึ้น ทำให้ต่อมไขมันทำงานมากขึ้น และนำไปสู่ภาวะผิวมัน รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดสิว
  • Piroctone olamine เป็นสารที่มีคุณสมบัติยับยั้งยีสต์ M. furfur

โดยสรุป ในด้านของสารบำรุงคือทำมาได้ค่อนข้างดี และตอบโจทย์ปัญหา SD 3 ประการ คือ ยีสต์ ความมันส่วนเกิน และอาการคัน ระคายเคือง ตามที่ทางแบรนด์เขากล่าว

ส่วนผสมอื่นๆ ที่ทางแบรนด์เลือกมาคือค่อนข้างทำได้ดี ไม่มีสารที่จะไปทำให้ผิวมันมากขึ้น และไม่มีส่วนผสมของสารที่ไม่เป็นมิตรกับผิว สารปรุงแต่งในตำรับอย่าง PMMA (Polymethyl methacrylate) ยังมีคุณสมบัติในการดูดซับความมันส่วนเกินให้ผิวเสริมมาอีก

ให้คะแนน

  1. สารบำรุง เรียกได้ว่าทางแบรนด์มีการพัฒนาสูตรตำรับมาเป็นอย่างดี เลือกสารที่มีประโยชน์ และมีกลไกการดูแลผิวที่ครอบคลุมครบทุกความต้องการของปัญหา SD ดังที่ได้กล่าวไป ขอให้ 5 ฟลาสก์
  2. ส่วนผสมอื่นๆ ไม่มีสารที่ไม่เป็นมิตรกับผิว และสารปรุงแต่งบางตัวยังมีประโยชน์ต่อผิว ให้ไป 5 ฟลาสก์
  3. การใช้งาน ก่อนอื่นต้องออกตัวว่าส่วนตัวไม่ได้มีปัญหา SD แต่มีบ้างที่ใส่ mask ไปนานๆ แล้วระคายเคือง ไม่สบายผิว พอได้ใช้ตัวนี้ ตอนแรกก็หวั่นๆ ว่าจะแห้งไปไหม แต่ผลที่ได้คือ ค่อนข้างน่าประทับใจ คือ ไม่แห้งไป แล้วก็เบาสบายผิว ให้ไป 5 ฟลาสก์

สําหรับรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ทางแบรนด์ ISDIN สาขาประเทศไทย ได้โดยตรงเลยนะคะ

Facebook https://www.facebook.com/ISDINTHAILAND/

“Flagship Store” ShopeeMall https://invol.co/clb1zun

“Flagship Store” LazMall : https://invol.co/clb1ztm

Disclaimer/conflict of interests: ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับการสนับสนุนจากทางแบรนด์ ISDIN ประเทศไทย การรีวิวครั้งนี้เป็นการวิเคราะห์ส่วนผสม/วัตถุดิบตามหลักการทางวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางและอาศัยความเห็นส่วนบุคคล และผู้เขียนไม่ได้มีผลประโยชน์ใดๆในการขายสินค้า โปรดใช้วิจารณญาณ

Image

รีวิว/วิเคราะห์ส่วนผสมเวชสำอางสุดเนี้ยบจาก แบรนด์ Herbitage กับ Be-Barrier 24.7 Restoring serum และ Concentrate 25.8 Serum booster

สวัสดีค่ะ วันนี้มีรีวิว/บทวิเคราะห์ส่วนผสมผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแบรนด์ไทยแบรนด์หนึ่งที่น่าสนใจมาฝากกันค่ะ

เป็นผลิตภัณฑ์เซรั่ม 2 สูตร จากแบรนด์ Herbitage ที่มีชื่อว่า Be-Barrier 24.7 Restoring serum และ Concentrate 25.8 Serum booster นะคะ

ก่อนอื่นขอแนะนำแบรนด์ Herbitage ซักหน่อยนะคะ

แบรนด์ HERBITAGE เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท เดอะ เฮอร์บิเทจ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์สกินแคร์ที่เหมาะกับผิวของคนไทย ด้วยการใช้สารสกัดธรรมชาติของไทย และสารออกฤทธิ์ทางวิทยาศาสตร์ที่มีงานวิจัยรับรอง โดยทางแบรนด์ได้ทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับสถาบัน KAPI (Kasetsart Agricultural and Agro-Industrial Product Improvement Institute) หรือ สถาบันผลิตผลเกษตรฯ ของทาง ม.เกษตรศาสตร์ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์สกินแคร์จากสารสกัดธรรมชาติขั้นสูง (Purified Natural Extracts) ที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย

เซรั่มที่จะนำมาวิเคราะห์ส่วนผสมทั้ง 2 ตัวในวันนี้ มีหน้าตาประมาณนี้ค่ะ

ตัวเซรั่ม Be-Barrier 24.7 เป็นเซรั่มสำหรับใช้ทั้งกลางวันและกลางคืน มาในโทนสีน้ำเงิน

บรรจุภัณฑ์เป็นขวดปั๊มแบบ Airless ค่ะ

เนื้อเซรั่มเป็นเนื้อสีขาวน้ำนม เนื้อบางเบา

เกลี่ยได้ค่อนข้างง่าย เนื้อบางเบา เมื่อทาทิ้งไว้ประมาณ 2 นาทีจะระเหยและซึมซาบไปจนหมด

ค่า pH อยู่ที่ราวๆ 5 – 6 ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับผิวดี

สำหรับสูตร 25.8 เป็นเซรั่มสำหรับกลางคืน จะมาในโทนสีเขียวนะคะ

บรรจุภัณฑ์เป็นขวดปั๊มแบบ Airless เช่นกันค่ะ

เนื้อเซรั่มจะมีสีเหลืองนวล ซึ่งคาดว่ามาจากสีของวิตามินเอ

เกลี่ยได้ค่อนข้างง่าย เนื้อบางเบา เมื่อทาทิ้งไว้ประมาณ 2 นาทีจะระเหยและซึมซาบไปจนหมดเช่นกัน

ค่า pH อยู่ที่ราวๆ 5 – 6 เช่นกัน

ก่อนไปวิเคราะห์ส่วนผสม อยากเล่าให้ฟังก่อนว่า ทางแบรนด์มีการทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ชนิด เมื่อใช้ร่วมกันในอาสาสมัครชาวไทย จำนวน 30 คน เป็นเวลา 28 วัน ผ่านทางคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าการใช้เซรั่มทั้ง 2 สูตรร่วมกันมีประโยชน์ดังนี้ค่ะ

  • อาสาสมัครมีค่าความชุ่มชื้นของผิวเพิ่มมากขึ้น (เมื่อวัดด้วยเครื่องมือ Corneometer)
  • อาสาสมัครมีริ้วรอยที่แลดูตื้นขึ้น ทั้งตำแหน่งรอยตีนกา และริ้วรอยบริเวณขอบปาก (Marionette’s line)
  • อาสาสมัครมีผิวที่กระจ่างใสขึ้น (เมื่อเทียบจากค่า Luminousity)
  • ทั้ง 2 ตำรับไม่พบว่าก่อการระคายเคืองในอาสาสมัคร

ส่วนนี้จะเป็นผลการทดลองที่น่าสนใจนะคะ

(Image from Herbitage)

สำหรับผลิตภัณฑ์เซ็ตนี้ส่วนตัวได้ให้คุณแม่ทดลองใช้เป็นเวลา 3 อาทิตย์ ตัวคุณแม่เองก็ชื่นชอบและกล่าวว่ารู้สึกผิวนุ่มกระชับและเรียบเนียนขึ้นค่ะ

จากภาพถ่ายถึงแม้ว่าตัวโทนสีผิวจะดูเหมือนสว่างและมี undertone ไปในโทนอมชมพูมากขึ้น แต่เนื่องจากการถ่ายภาพแม้จะใช้แสงแฟลชเป็นตัวควบคุมให้สภาวะแสงเท่ากันแล้ว แต่อาจมีปัจจัยอื่นๆ มารบกวนได้ จึงยังไม่สามารถฟันธง หรือบอกได้ชัดเจนว่าใช้เซรั่มแล้วดูขาวขึ้น

เราลองมาดูส่วนผสมกันบ้างนะคะ โดยจะขอวิเคราะห์ไปทีละตัวค่ะ

ส่วนผสม Be-Barrier 24.7

สำหรับส่วนผสมของตัว 24.7 นี้ ถ้าอิงตามแบรนด์เคลมก็คือ ส่วนผสมของสารบำรุงทั้งหมดรวมกันอยู่ที่ 24.7% ส่วนตัวได้แบ่งเป็นสีๆ และจะกล่าวถึงทีละกลุ่มสีนะคะ

ขอเริ่มที่ Bromelain ก่อนนะคะ

  • Bromelain เป็นเอนไซม์ชนิดหนึ่งที่พบได้ในสับปะรด มีคุณสมบัติในการย่อยโปรตีน ซึ่งถ้าเอามาใช้ทางผิวหนัง เอนไซม์นี้จะไปย่อยสลายเศษขี้ไคลอย่างอ่อนโยน จุดที่สำคัญของทางแบรนด์ Herbitage คือ Bromelain นี้ เป็นเอนไซม์บริสุทธิ์จากเหง้าสับปะรด ที่ผ่านการวิจัยและควบคุมธรรมชาติโดยม.เกษตรศาสตร์

ถัดมาเป็นกลุ่มของสารไขมันต่างๆ ใช้สีเขียวมะกอกแทนนะคะ

  • Cholesterol, Ceramide NP, Phytosphingosine เป็นไขมันที่สำคัญในการเป็นองค์ประกอบของ Barrier ผิว เสริมมาด้วยน้ำมันจากมะกอก และ Caprylic/capric triglycerides ที่ให้กรดไขมันแก่ผิว
  • Shea butter มีประโยชน์ที่ดีกับผิวหลายอย่าง ทั้งในด้านของความชุ่มชื้น และมีส่วนประกอบของสารกลุ่ม Phytosterol ที่ดูแลการอักเสบระคายเคืองผิว
  • Squalane เคลือบปกป้องผิว

ซึ่งกลุ่มของ Ceramides complex นี้มีอยู่ที่ความเข้มข้น 10% ในตำรับ

สีเขียวแก่ เป็นกลุ่มของสาร Natural moisturizing factor (NMF) ที่พบได้ตามธรรมชาติในผิว ซึ่งมีทั้งกรดอะมิโน Sodium PCA ที่เป็นอนุพันธ์ของกรดอะมิโน และ น้ำตาล Glucose

สีน้ำเงิน เป็นกลุ่มของสารเพิ่มความชุ่มชื้นเช่นกัน ขอหยิบเอามากล่าวบางตัว

  • Hyaluronic acid และอนุพันธ์ต่างๆ รวม 8 ตัว การเลือกใช้ Hya ในหลายๆ รูปแบบให้ประโยชน์ในการปกป้องและดูแลเรื่องความชุ่มชื้นผิวในหลายๆ ระดับชั้น
  • Glyceryl glucoside เป็นสารที่ประกอบด้วยโครงสร้างของ Glycerin จับกับน้ำตาล พบได้ในธรรมชาติ มีรายงานกล่าวถึงคุณสมบัติในการเสริมสร้าง Aquaporin-3 ซึ่งเป็นช่องทางที่มีประโยชน์ในการช่วยเก็บกักน้ำให้แก่ผิว และเมื่อใช้ร่วมกับ Glycerin จะมีประสิทธิภาพในการดูแลเรื่องความชุ่มชื้นเพิ่มขึ้น
  • สารสกัดจากสาหร่าย Chondrus crispus extract ตัวนี้ขอหยิบมาไว้ในสีน้ำเงินด้วย เพราะประกอบด้วยสารในกลุ่ม Polysaccharide ที่มีประโยชน์ในการเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวเช่นกัน

สีชมพู เป็นสารบำรุงที่น่าสนใจ

  • Tranexamic acid ตัวนี้เมื่อก่อนเคยใช้เป็นยาห้ามเลือด แต่เจอว่ามีผลในเชิง Whitening เลยมีการเอามาทำวิจัยต่อยอด พบว่า Tranexamic acid ออกฤทธิ์โดยไปยับยั้ง Plasmin ซึ่งเป็นตัวตั้งต้นที่ไปกระตุ้นฮอร์โมน alpha-MSH (Melanocyte stimulating hormone) ที่ไปกระตุ้นให้หน่วยสร้างเม็ดสี หรือ เมลาโนไซท์ทำงาน สร้างเมลานินและส่งผ่านออกมาภายนอกมากขึ้น เมื่อไปยับยั้งผลคือ มีการสร้างและส่งผ่านเมลานินออกมาน้อยลง (J Am AcadDermatol 2011;October:699-714.) มีการศึกษาประสิทธิภาพของ Tranexamic acid เข้มข้น 3 % ในอาสาสมัคร พบว่าให้ผลในการลดเลือนรอยฝ้าเทียบเท่าสูตรผสมของ Hydroquinone กับ Dexamethasone แต่ผลข้างเคียงต่ำกว่ามาก (J Res Med Sci. 2014;19(8):753-7.) ตัวนี้จัดมาในตำรับที่ 3%
  • Ectoine เป็นกรดอะมิโนชนิดพิเศษที่มีโครงสร้างเป็นวงกลม สร้างโดยแบคทีเรียบางสายพันธ์ที่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่ค่อนข้างโหดร้าย (Extremophile) ทำหน้าที่ปกป้องตัวเขาเองจากอันตรายภายนอก ไม่ว่าจะเป็นทั้งจากปัจจัยกายภาพและเคมี มีการพบว่าตัว Ectoine จะทำหน้าที่ดึงเอาน้ำมาเกาะไว้กับตัวเองแล้วกลายเป็นชั้นโครงสร้างที่ช่วยปกป้องโปรตีนองค์ประกอบต่างๆ ที่สำคัญของเซลล์เอาไว้ เรียกว่าเป็น Ectoine hydrocomplex (Clin Dermatol. 2008;26(4):326–633.) เจ้า Hydrocomplex ดังกล่าวส่งผลดีถึงองค์ประกอบทั้งเซลล์ คือปกป้องเซลล์นั้นให้มีปริมาณน้ำเหมาะสม และทำงานได้ตามปกติ แต่เมื่อปริมาณน้ำต่ำลง จะไปมีผลต่อระบบของการอักเสบทำให้เกิดอาการต่างๆ ตามมา ในกรณีของผิวหนัง การมี Ectoine จะช่วยให้ Lipid barrier ของผิวทำงานได้ตามปกติและมีความแข็งแรง ผิวจึงแข็งแรง และเก็บกักน้ำได้ดี (มีการระเหยของน้ำออกจากผิว/Transepidermal water loss; TEWL น้อย) (Biophys Chem. 2010;150(1–3):37–46.) มีการทดสอบประสิทธิภาพในทางผิวหนังอยู่หลายชิ้น ซึ่งได้กล่าวถึงในบทความวิชาการล่าสุดของ Kauth และ Truvosa (Dermatology and Therapy. 2022;12:295–313) ในภาพรวมคือ Ectoine ให้ประโยชน์ในการปกป้องผิวให้แข็งแรง ลดการระเหยของน้ำออกจากผิว ลดการอักเสบระคายเคือง รวมทั้งดูแลปัญหาผิวอักเสบและระคายเคืองต่างๆ

สีม่วง เป็นสารบำรุงที่มีประโยชน์ในการดูแลด้านความรู้สึกระคายเคืองของผิว ได้แก่ Bisabolol, Allantoin, Panthenol และ Betaine

ในภาพรวมส่วนผสมต่างๆ ที่มีในเซรั่ม 24.7 นี้ ให้ความโดดเด่นในแง่ของการดูแล Barrier ผิว ปกป้องให้ผิวแข็งแรง ฟื้นฟู ให้ประโยชน์ครอบคลุมไปถึงการผลัดผิวแบบอ่อนๆ และ Whitening

อีกตัวเป็นสูตรสีเขียว 25.8 ค่ะ

ส่วนผสม

สูตรสีเขียวจะประกอบด้วยสารบำรุงหลายชนิดเหมือนกันนะคะ ถ้าอิงตามแบรนด์เคลมก็คือ ส่วนผสมของสารบำรุงทั้งหมดรวมกันอยู่ที่ 25.8% พอดี

สำหรับ Bromelain ก็ดังที่ได้กล่าวไปก่อนในสูตร 24.7 นะคะ

ในสูตร 25.8 มีเพิ่มส่วนผสมของสารสีส้มมาอีกชุด คือ Lactobacillus/Pumpkin fruit ferment filtrate ซึ่งเป็น สารที่ได้จากการหมักฟักทองด้วยจุลินทรีย์ Lactobacillus ข้อมูลจากผู้ผลิตวัตถุดิบระบุว่า เมื่อหมักฟักทองด้วยกรรมวิธีพิเศษแล้วจะสามารถแยกเอากลุ่มสารที่มีคุณสมบัติเป็นเอนไซม์ที่ย่อยสลายโปรตีน ซึ่งเวลาใช้งานเอนไซม์นี้จะไปย่อยสลายเศษขี้ไคลอย่างอ่อนโยน รวมถึงพวกเศษซากจุลินทรีย์ที่เกาะอยู่บนขี้ไคลเหล่านั้น ส่งผลให้ผิวแลดูกระจ่างใส และเสริมกระบวนการผลัดผิวใหม่ตามธรรมชาติ ด้วยความที่นางมีประโยชน์คล้ายกัน เลยขอแบ่งไว้ในกลุ่มสีเดียวกัน

สำหรับในแง่ของสารบำรุงหลัก

เริ่มเปิดมาที่สีเขียวขี้ม้า Bakuchiol ซึ่งเป็นสารพฤกษเคมีที่พบได้ในพืชหลายชนิด มาในความเข้มข้น 1% มีคุณสมบัติและกลไกการออกฤทธิ์คล้ายกับพวกวิตามินเอ แต่มีความปลอดภัยสูงกว่า มีประโยชน์ในด้านของการชะลอวัย ลดเลือนริ้วรอย และดูแลปัญหาสิว

ถัดมาจะเป็นกลุ่มของวิตามินที่แทนด้วยสีส้มอ่อน ได้แก่ วิตามินเอ อี ซี บี3 กล่าวกันจริงๆ การมีเพียงวิตามินเหล่านี้ก็ดูแลปัญหาผิวได้เกือบครบจบทุกปัญหา ขอกล่าวแบบสรุปๆ นะคะ

  • วิตามินเอ ในที่นี้ทางแบรนด์ใช้ในรูปแบบ Retinaldehyde หรือ Retinal ในความเข้มข้น 0.1% ซึ่งมีประสิทธิภาพที่ดีในการดูแลปัญหาริ้วรอย ผิวหย่อนคล้อย ไม่กระชับ รวมถึงเรื่องของปัญหาสิวและรูขุมขน
  • วิตามินอี ใช้ในรูปแบบ Tocopheryl acetate เป็น Antioxidant ที่ละลายไขมัน ปกป้องส่วนของน้ำมันของผิวไม่ให้ถูกทำร้ายจากอนุมูลอิสระ และช่วยปกป้องสารไขมันรวมถึงสารอื่นในตำรับไม่ให้เสื่อมสภาพเพราะ Oxygen
  • วิตามินซี ใช้ในรูปแบบ Ascorbyl glucoside ในความเข้มข้น 4% มีประโยชน์ที่ดีกับผิวหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการชะลอวัย โดยเป็น Antioxidant เป็น Whitening ผ่านการยับยั้งเอนไซม์ Tyrosinase ที่ใช้สังเคราะห์เมลานิน ลดการอักเสบระคายเคือง และเป็นส่วนหนึ่งของการสังเคราะห์คอลลาเจนตามธรรมชาติ
  • วิตามินบี 3 มาในความเข้มข้น 10% มีประโยชน์กับผิวหลายประการเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านของ Whitening ที่ดูแลไป ณ กระบวนการส่งผ่านเม็ดสีที่สร้างเสร็จแล้วไม่ให้ออกมาด้านนอก การอักเสบระคายเคือง ปัญหาสิว และ เสริมการสังเคราะห์ไขมันที่เป็น Barrier ผิวให้ผิวแข็งแรง

สีน้ำเงินป็นกลุ่มของสารเพิ่มความชุ่มชื้น ผ่านกระบวนการดูดจับน้ำ และเก็บกักน้ำ ได้แก่ น้ำตาล Trehalose, Hya และ Polyquaternium-51 ที่ให้คุณสมบัติปกป้องและให้ความรู้สึกสบายผิวไปในตัว

สีบานเย็น เป็นกลุ่มของสารบำรุงที่โดดเด่นด้านการดูแลปัญหาการระคายเคือง ได้แก่ Bisabolol, Allantoin, Dipotassium glycyrrhizate และ สารสกัดจาก Portulaca

สีฟ้าอ่อน เป็นสารบำรุงอื่นๆ ขอหยิบยกมากล่าวเพียงบางตัวนะคะ

  • Gossypium herbaceum extract ข้อมูลจากผู้ผลิตวัตถุดิบได้กล่าวว่า สารสกัดจากเมล็ดฝ้ายมีประโยชน์ที่ดีกับผิวหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของการควบคุมความมันส่วนเกินในขณะที่เพิ่มความชุ่มชื้นไปด้วย ลดการอักเสบระคายเคือง ให้ความรู้สึกสบายผิว (Soothing effect)
  • สารสกัดจากบัวบก ก็มีประโยชน์ที่ดีและโดดเด่นหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นด้านของการชะลอวัย การดูแลปัญหาเรื่องริ้วรอย รวมไปถึงปัญหาด้านการอักเสบและระคายเคือง และเป็น Antioxidant
  • สารสกัดจากต้นหลิว Salix alba extract ประกอบด้วย BHA ธรรมชาติ ในรูปของ Salicin ซึ่งเมื่อลงผิวจะเปลี่ยนเป็น Salicylic acid ที่มีประโยชน์ในการดูแลปัญหาการอุดตันของผิว
  • Gluconolactone จัดเป็น PHA มีประโยชน์ในด้านของการเติมน้ำให้ผิว และผลัดผิวอย่างอ่อนโยน และอาจจะได้ประโยชน์ในการดูแลปัญหาสิว

ในภาพรวม เซรั่ม 25.8 นี้ เน้นไปในด้านของริ้วรอยเป็นหลัก รองๆ มา จะเป็นเรื่องของการชะลอวัย Whitening และให้ประโยชน์ในเรื่องของปัญหาสิว ถือว่าดูแลปัญหาผิวได้อย่างครอบคลุม

มาให้คะแนนกันนะคะ

  1. สารบำรุง ในด้านของสารบำรุง ตัวเซรั่มทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์เรียกได้ว่าจัดมาได้ค่อนข้างครบถ้วนสมบูรณ์และดูแลปัญหาผิวได้อย่างครอบคลุม ตามที่ได้กล่าวไปด้านบน ขอให้ไป 5 ฟลาสก์
  2. ส่วนผสมอื่นๆ ไม่มีส่วนผสมของสารที่ไม่เป็นมิตรกับผิว เลยขอให้ไป 5 ฟลาสก์
  3. การใช้งาน ในส่วนของการใช้งานผลิตภัณฑ์ชุดนี้ ส่วนตัวได้ให้คุณแม่ทดลองใช้ จากการสัมภาษณ์คุณแม่ค่อนข้างพึงพอใจในตัวผลิตภัณฑ์นะคะ ทั้งในแง่ของความชุ่มชื้น ความกระชับ และความเรียบเนียนของผิวเป็นหลักค่ะ จุดนี้คุณแม่ให้คะแนนเต็มที่ 5 ฟลาสก์

สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณทุกท่านด้วยนะคะที่ติดตามรับชมมาจนจบ และขอบคุณทางแบรนด์ Herbitage ค่ะที่ได้ส่งผลิตภัณฑ์ดีๆ ที่พัฒนามาจากงานวิจัย และยังผ่านการทดสอบประสิทธิภาพในอาสาสมัครมาให้ได้เปิดหูเปิดตาและได้ทดลองใช้

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ทางแบรนด์ Herbitage โดยตรงเลยนะคะ

Facebook fanpage https://www.facebook.com/HerbitageThailand

Official store ของแบรนด์

Shopee : https://bit.ly/2PmOxy7

Lazada : https://bit.ly/3fzwrUy

Disclaimer/conflict of interests: ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับการสนับสนุนจากทางแบรนด์ Herbitage การรีวิวครั้งนี้เป็นการวิเคราะห์ส่วนผสม/วัตถุดิบตามหลักการทางวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางและอาศัยความเห็นส่วนบุคคล และผู้เขียนไม่ได้มีผลประโยชน์ใดๆในการขายสินค้า โปรดใช้วิจารณญาณ

Image

รีวิว/วิเคราะห์ส่วนผสมเซรั่มบำรุงที่พัฒนาไปอีกขั้น ATG rejuvenating serum จากแบรนด์ dermArtlogy

สวัสดีค่ะ วันนี้ขอมาอัพเดท รีวิว และวิเคราะห์ส่วนผสมเซรั่มในไลน์ใหม่ของทางแบรนด์ dermArtlogy ของบริษัท Neopharm ประเทศเกาหลีกันนะคะ

เรียกได้ว่าเซรั่มของแบรนด์ dermArtlogy นั้น มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดและทันสมัย

ล่าสุดทางแบรนด์ก็ได้พัฒนาสูตรใหม่ ATG rejuvenating serum ออกมาสำเร็จ จนกลายเป็นเซรั่มตัว Top สุด และได้วางจำหน่ายในบ้านเราเมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา

สำหรับท่านที่สนใจรายละเอียดของแบรนด์และเซรั่มสูตร Ageless potent rejuvenating serum สูตรก่อนหน้า และสูตร Gel สามารถติดตามได้ที่ Link ด้านล่างนี้ค่ะ

ช่องทางตามไปอ่าน Ageless potent rejuvenating serum https://miyeonthereviewer.com/2020/10/09/dermatlogy-agelesspotent/

ช่องทางตามไปอ่าน Link Gel moisturizerhttps://miyeonthereviewer.com/2021/01/25/dermartlogy-gelmoist/

สำหรับสูตร Top สุด ณ ขณะนี้ คือตัว ATG ที่จะมาเล่าให้ฟังในวันนี้มีหน้าตาประมาณนี้ค่ะ

น้องมาในดีไซน์ที่เป็น Signature ของทางแบรนด์ โดยรุ่นนี้จะเป็นขวดปั๊มแบบสุญญากาศ Airless pump ค่ะ

เนื้อเซรั่มเป็นประมาณนี้นะคะ มาในรูปแบบ Translucent กึ่งใสกึ่งขุ่น แสงยังผ่านได้

เช่นเคย เนื่องจากไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม เราเลยจะยังได้กลิ่นของวัตถุดิบอยู่จางๆ เนื้อรุ่นนี้เกลี่ยได้ง่าย ให้ความรู้สึกชุ่มชื้น เบา สบายผิว ไม่เหนอะหนะ และไม่แห้งจนเกินไป

ตัวนี้ส่วนตัวมี่โอกาสได้ทดลองใช้ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ยังไม่ออกสู่ท้องตลาดจนปัจจุบันก็ปาเข้าไปน่าจะครึ่งปีได้

ช่วง 2 เดือนแรก จะทาเฉพาะบริเวณใบหน้าด้านซ้ายที่ไม่ได้ใช้พวก retinoid ในด้านของความสบายผิว ความชุ่มชื้น ความแดงที่เป็น undertone บริเวณแก้มดูเหมือนจะลดลง รูขุมขนดูละเอียดขึ้น

หลังจากนั้นก็ทาทั้งสองฝั่งแบบจริงจังจนถึงปัจจุบันน่าจะเกิน 3 เดือนไปแล้ว ที่รู้สึกชอบมากคงหนีไม่พ้นเรื่องของความแข็งแรงของผิว และความรู้สึกดีหลังใช้งาน อารมณ์แบบรักผิวตอนนี้มาก แม้จะมีปัญหากับการใส่ Mask บ้างก็ตาม

ค่า pH อยู่ที่ราวๆ 4 – 5 นะคะ

สำหรับส่วนผสมเป็นดังนี้ค่ะ

ในภาพรวมแม้ส่วนผสมจะดูเหมือนค่อนข้างเยอะชนิด แต่ส่วนใหญ่เป็นสารบำรุงที่มีประโยชน์ต่อผิวในด้านต่างๆ เรียกได้ว่าดูแลปัญหาผิวได้อย่างครอบคลุมเลยทีเดียว

วันนี้แบ่งส่วนผสมไว้เป็นสีๆ ตามกลุ่มของการออกฤทธิ์นะคะ

โดยขอเริ่มที่กลุ่มสีชมพู กลุ่มของไขมัน และสารที่ใช้ทำ MLETM (Multi-lamellar emulsion) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสิทธิบัตรของทาง Neopharm ประเทศเกาหลี

  • MLETM ปกติแล้วในผิวเราจะมีไขมันที่ทำหน้าที่เป็น Barrier ผิว ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 กลุ่ม คือ Ceramide + Cholesterol และ Fatty acid ไขมันเหล่านี้มันจะเรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบซึ่งมีด้วยกันหลายรูปผลึก ส่วนหนึ่งเป็นรูปแบบ Liquid crystal
  • เจ้า MLETM นี่เป็นสูตรผสมของ Pseudoceramide (Myristoyl/palmitoyl oxostearamide/arachamide MEA หรือ PC-9S) ร่วมกับ Cholesterol, Phytosterol, rapeseed sterols และกรดไขมัน Stearic acid กับกรดไขมันใน น้ำมันจากแมคคาเดเมีย และ Caprylic/capric triglycerides ซึ่งเรียงตัวในรูปแบบที่คล้ายกับ Liquid crystral ของผิว เลยสามารถทำหน้าที่ปกป้องผิวทดแทน Barrier ของผิว อีกตัวที่เป็นส่วนประกอบของ MLE คือ Dihydroxyisopropyl capryloylcaprilamide หรือ PC-5SP ซึ่งพอเอามารวมกับ PC-9S และสารอื่นๆ ในสัดส่วนที่เหมาะสมจะเกิดเป็นโครงสร้างรูปแบบ Liquid crystal ที่เวลาดูภายใต้กล้องจุลทรรศน์ Polarized microscope จะเห็นเป็นลักษณะพิเศษที่เรียกว่า Maltese cross ซึ่งเหมือนกับการเรียงตัวของ Barrier ผิว ตามภาพ
(Image from Neopharm)
  • Phytosterols และ Rapeseed sterols ที่เสริมเข้ามายังมีประโยชน์เพิ่มเติมในด้านการดูแลปัญหาการอักเสบและระคายเคืองของผิว

ถัดมาจะเป็นกลุ่มของ Peptide ต่างๆ ที่เป็นอักษรสีส้มนะคะ

Heptasodium hexacarboxymethyl dipeptide-12 ตัวนี้คือ Aquatide ที่เป็นตัวหลักตัวหนึ่ง โดยมีประโยชน์ในการเสริมกระบวนการ Autophagy ที่เกิดขึ้นภายในผิว ซึ่งเป็นเสมือนกระบวนการที่ผิวเรารีไซเคิลเอาองค์ประกอบที่มันเสื่อมสภาพมาสร้างและฟื้นฟูเป็นองค์ประกอบใหม่ ให้ผิวเราทำงานได้ดีเหมือนเดิม ขอใช้รูปเก่ามาประกอบค่ะ

สำหรับท่านที่สนใจเรื่อง Aquatide สามารถตามไปอ่านเรื่องของ Aquatide แบบละเอียดได้ที่ลิงค์นี้นะคะ (https://cosmeknowledge.wordpress.com/2019/06/11/spotlight-aquatide/)

Tetracarboxymethyl hexanoyl dipeptide-12 ตัวนี้มีชื่อทางการค้าว่า AdiposolTM ซึ่งข้อมูลจากผู้ผลิตวัตถุดิบกล่าวว่าน้องไปมีผลกระตุ้น Adiponectin ซึ่งเป็น Peptide hormone ชนิดหนึ่งที่สร้างจากเซลล์ไขมัน (Adipocyte) ปกติ Adiponectin จะมีบทบาทในระดับร่างกาย แต่ก็มีการพบว่า Adiponectin นั้นมีประโยชน์กับผิวหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น การเสริมสร้างการสังเคราะห์ไขมันที่เป็น Barrier ผิว การแบ่งตัวเพิ่มจำนวนของเซลล์ผิว เสริมการสังเคราะห์คอลลาเจนและ Hyaluron ในธรรมชาติของผิว และลดการอักเสบระคายเคือง (Oh, et al., Biomol Ther (Seoul). 2021; Sep 28. doi: 10.4062/biomolther.2021.089.)

ทีนี้ปัญหาอยู่ที่ว่ารังสี UV และปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม อย่างมลภาวะ ไปกดการสร้าง Adiponectin เลยทำให้กระบวนการต่างๆ เหล่านี้หายไป นอกจากนี้รังสี UV ยังไปทำให้เอนไซม์ MMP มาย่อยสลายคอลลาเจนเกิดความเหี่ยวขึ้นมาอีกต่อหนึ่ง

ในจุดนี้ข้อมูลจากผู้ผลิตวัตถุดิบ AdiopSOL กล่าวว่า สารนี้ยังเสริมกระบวนการ Autophagy ลดการสร้างเอนไซม์ MMP และลดการอักเสบในระดับหลอดทดลอง และลดรอยแดงของผิวในอาสาสมัคร

(Image from Incospharm และ AH&NS)

Pentasodium tetracarboxymethyl palmitoyl dipeptide-12 ตัวนี้มีชื่อย่อว่า PTPD เป็นเปปไทด์ที่พัฒนามาเพื่อเสริมกระบวนการ Autophagy ซึ่งมีการทดสอบประสิทธิภาพในอาสาสมัครที่เป็นโรคผิวหนังชนิด Atopic dermatitis เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าอาสาสมัครมีอาการระคายเคือง คัน ลดลง และมีความชุ่มชื้นของผิวเพิ่มขึ้น (Kwon, et al. J Dermatolog Treat. 2019;30(6):558-564.) นอกจากนี้ข้อมูลจากผู้ผลิตวัตถุดิบกล่าวว่า PTPD ยังมีคุณสมบัติลดปริมาณของเม็ดสีผิว ผ่านการเสริมการเกิด Autophagy ของแหล่งสร้างเม็ดสีผิวอย่าง Melanocyte

(Image from dermArtlogy)

Acetyl dipeptide-1 cetyl ester ตัวนี้เป็น Peptide ตัวหนึ่งที่เราเจอกันค่อนข้างบ่อย น้องเด่นในแง่ของการลดความรู้สึกระคายเคือง ซึ่งมีการศึกษารองรับในอาสาสมัคร โดยให้อาสาสมัครทา Capsaicin เพื่อเกิดการระคายเคือง แล้วทาผลิตภัณฑ์ที่มีสารตัวนี้ลงไป พบว่า สารนี้สามารถลดการระคายเคืองและความรู้สึกแสบร้อนที่เกิดขึ้น (J Eur Acad Dermatol Venereol. 2016;30 Suppl 1:18-20.) สำหรับกลไกในการออกฤทธิ์จะเกิดผ่านระบบของ Opioid โดยไปลดการนำส่งสัญญาณกระแสประสาทที่ให้เกิดความรู้สึกแสบร้อน

กล่าวถึงระบบของ Opioid ในผิวหนังเรานั้น เป็นระบบที่ควบคุมการสื่อสารทางระบบประสาทภายในผิว (Skin neuroendocrine system) จะมีสารที่ชื่อว่า met-Enkephalin สร้างออกมาจากเซลล์เมล็ดเลือดขาว monocyte ทำหน้าที่หลักในการรักษาสมดุลของผิวผ่านการควบคุมกระบวนการอักเสบของผิวและการแบ่งตัวเพิ่มจำนวน/เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเซลล์ในชั้นหนังกำพร้า รวมไปถึงเสริมการฟื้นฟูตัวเองเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น (Bigliardi, et al. Exp Dermatol. 2016;25:586-591.)

ซึ่ง Acetyl dipeptide-1 cetyl ester จะไปเหนี่ยวนำให้เกิด met-Enkephalin ที่ไปจับกับตัวรับของ Opioid ซึ่งมีผลลดการระคายเคือง เสริมการฟื้นฟูผิว และทำให้ผิวแข็งแรงในระยะต่อมา

กลุ่มของสารเพิ่มความชุ่มชื้นแทนด้วยสีบานเย็น จะเป็นตัว Hyaluronic acid รูปแบบดั้งเดิม และ Hydrolyzed hyaluronic acid ที่ผ่านการย่อยให้มีขนาดเล็กลง กรดอะมิโน Arginine และวัตถุดิบอีกชิ้นที่เรียกว่าเป็น Exclusive ingredient ของทางแบรนด์ คือ Dihydroxyisopropyl capryloylcaprilamide

  • Dihydroxyisopropyl capryloylcaprilamide มีชื่อย่อว่า K6-PC5 มีคุณสมบัติในการเสริมความแข็งแรงของผิวแบบอ้อมๆ ผ่านการเสริมการสร้างสาร Sphingosine ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญใน Ceramide และ Sphingosine ยังควบคุมกระบวนการทำงานต่างๆ ของผิว โดยรวมจะช่วยให้ผิวเราเก็บกักและอุ้มน้ำไว้ได้ดีขึ้น

ถัดมาเป็นกลุ่มของสารที่ลดการอักเสบและระคายเคืองผิว รวมถึงสารบำรุงอื่นๆ ซึ่งมีด้วยกันหลายชนิด อย่างวิตามินบี 3 บี 5 Betaine, Dipotassium glycyrrhizate, Allantoin และอีกตัวที่น่าสนใจ

  • Caprylamide MEA หรือ Dualguard-7TM สารนี้มีคุณสมบัติดูแลเรื่องการอักเสบระคายเคืองโดยไปลดการสร้างสารเหนี่ยวนำการอักเสบในกลุ่มของ Interleukin-17 (IL-17) เสริมกระบวนการ Autophagy ผ่านการยับยั้งโปรตีน p62 ซึ่งเป็นตัวต่อต้านการเกิด Autophagy และเสริมการสังเคราะห์คอลลาเจน

ปิดท้ายด้วยสีเขียวเป็นกลุ่มของบัวบกและคณะ เป็นสารสกัดจากบัวบก ที่มีประโยชน์ต่อผิวในหลายประการ ตัวนี้ทางแบรนด์เคลมว่าเป็นสารสกัดจากบัวบกในรูปแบบ Medical grade ในความเข้มข้นสูงถึง 50% และยังเสริมสารบริสุทธิ์ที่เป็นสารพฤกษเคมีหลัก (Active phytochemicals) ในบัวบก อย่าง Madecassoside, Asiaticoside, Madecassic acid, และ Asiatic acid เข้ามา ซึ่งสารเหล่านี้มีประโยชน์ในด้านการลดการอักเสบ เสริมการสมานแผล ชะลอวัยลดเลือนริ้วรอย เป็น Antioxidant และอื่นๆอีกหลายด้าน

สารเพิ่มความชุ่มชื้นผิวมากขนาดนี้ผิวจะมันไหม?

ในจุดนี้ทางแบรนด์วางแผนการตั้งตำรับมาอย่างรอบคอบโดยการเสริมเอา Zinc PCA เข้ามา ซึ่งเจ้า Zinc PCA เป็นสารลูกผสมของ Zinc กับ Pyrollidone carboxylic acid (PCA) มีรายงานการวิจัยกล่าวว่านอกจากคุณสมบัติในการกระชับรูขุมขนควบคุมความมัน (Astringent) แล้ว Zinc PCA ยังมีรายงานว่ามีประโยชน์ในการปกป้องผิวหนังจากรังสี UVA และลดผลเสียจากรังสี โดยไปลดการสร้าง Activator protein 1 ที่จะไปเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบต่อ และ MMP-1 ที่เป็นเอนไซม์ที่ทำลายคอลลาเจนในผิว (Int J Cosmet Sci. 2012; 34(1):23-8.)

สำหรับส่วนผสมอื่นๆ นั้นถือว่าเป็นมิตรกับผิวทั้งหมด

ให้คะแนนกันดีกว่าค่ะ

  1. สารบำรุง ในภาพรวมนอกจากความโดดเด่นในแง่ของด้าน Autophagy ที่มีประโยชน์ทั้งการชะลอวัย เสริมความแข็งแรงให้กับผิวแล้ว ยังเสริมมาด้วยสารบำรุงอีกหลายชนิดที่ดูแลผิวได้อย่างครอบคลุมจบทุกปัญหา และช่วยให้ผิวมีสุขภาพดี ให้ไป 5 ฟลาสก์
  2. ส่วนผสมอื่นๆ เลือกมาได้ค่อนข้างดี ไม่มีสารที่ไม่เป็นมิตรกับผิวเลยขอให้ไป 5 ฟลาสก์
  3. การใช้งาน ถ้าเทียบกับในไลน์ของ Autophagy ที่ออกมาทั้ง 4 สูตร รวมตัวนี้ ส่วนตัวชอบตัวนี้มากที่สุด ทั้งในแง่ของความรู้สึกเบาสบายผิว เรื่องของอาการแดงและคันระคายเคืองผิว สำหรับกลางวันคือ perfect มาก แต่ถ้าเป็นตอนกลางคืนส่วนตัวจะรู้สึกว่าความชุ่มชื้นตัวเนื้อเซรั่มอาจจะยังน้อยไปนิดหน่อยสำหรับบริเวณที่มีปัญหาผิวแห้งจริงๆ อย่างบริเวณแก้ม แต่เอาครีมมอยส์เจอร์อื่นมาทับไว้อีกชั้นหนึ่งคือสมบูรณ์แบบมาก จากที่ได้ทดลองใช้มาตั้งแต่ก่อนผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด จนถึงตอนนี้ก็ประมาณ 3 เดือน สิ่งที่ดีงามคือ สุขภาพผิวโดยรวมดีขึ้นมาก ตามที่ได้กล่าวไปในด้านบน ขอให้ไป 5 ฟลาสก์

สุดท้ายนี้ขอขอบคุณทางแบรนด์ DermArtlogy ด้วยนะคะ ที่ส่งสินค้าดีๆมาให้มี่ได้ทดลองใช้ และขอบคุณทุกๆท่านด้วยค่ะที่ติดตามรับชมมาจนจบค่ะ

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ทางแบรนด์ DermArtlogy โดยตรงเลยนะคะ

https://www.facebook.com/DermArtlogyThailand/

📲 𝐋𝐢𝐧𝐞 𝐎𝐟𝐟𝐢𝐜𝐢𝐚𝐥 : @dermskintech หรือคลิก https://bit.ly/2ZWhJB1
📲 𝐋𝐚𝐳𝐚𝐝𝐚 : https://bit.ly/3pVBtOO
📲 𝐒𝐡𝐨𝐩𝐞𝐞 : https://shp.ee/34de5z5

Disclaimer/conflict of interests: ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับการสนับสนุนจากทางแบรนด์ DermArtlogy การรีวิวครั้งนี้เป็นการวิเคราะห์ส่วนผสมตามหลักการทางวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางและอาศัยความเห็นส่วนบุคคล ผู้เขียนไม่ได้มีผลประโยชน์ใดๆในการขายสินค้า โปรดใช้วิจารณญาณ

Image

Mini-review + วิเคราะห์ส่วนผสม Zeroid pimprove toner

สวัสดีค่ะ วันนี้ขอหยิบเอาโทนเนอร์ลูกรักของแบรนด์ Zeroid สูตร Pimprove มาวิเคราะห์ส่วนผสมให้ได้ชมกันนะคะ

น้องมีหน้าตาประมาณนี้ค่ะ

น้องยังคงคุมโทนอยู่ในเฉดสีชมพูโอรสเหมือนเดิมค่ะ

ตัวแพคเกจมาในขวดพลาสติกขนาด 200 ml

ตัวเนื้อสัมผัสของโทนเนอร์เป็นเนื้อแบบน้ำใส ส่วนตัวเอามาลองใช้ทั้งในรูปแบบน้ำตบ และ หยดใส่สำลีก่อนเช็ดลงบนหน้า

สำหรับส่วนผสม ส่วนตัวมองว่าคัดเลือกมาค่อนข้างดีนะคะ

ในภาพรวม Toner นี้ใช้ส่วนผสมของ LHA (Lipohydroxy acid) ร่วมกับ AHA 3 ตัว (ซึ่งอาจจะเอามาปรับ pH หรือแอบหวังผลในการออกฤทธิ์ด้วยตรงนี้ไม่แน่ใจ) ลดการระคายเคืองด้วย Panthenol กับ Betaine เติมน้ำด้วย Hya กับดูแลปัญหาสิวเพิ่มเติม ควบคุมความมัน ด้วย Zinc PCA และใช้เทคโนโลยี MLE จาก ceramide PC-9S ของทาง Neopharm

ลองมาดูรายละเอียดของส่วนผสมกันนะคะ ขอละ Hya ไว้ในฐานที่นางเป็นสารที่ Popular มากนะคะ

พระเอกของโทนเนอร์นี้คงเป็นเทคโนโลยี MLE ที่เกิดจาก Ceramide PC-9S (Myristoyl/palmitoyl oxosteramide/arachamide MEA) ว่ากันว่า สารนี้เวลาอยู่ในตำรับนางจะเรียงตัวในรูปแบบของ Multi-lamellar emulsion ซึ่งคล้ายกับการเรียงตัวของไขมันที่เป็น Barrier ของผิว สารนี้มีสิทธิบัตรรองรับอยู่หลายชิ้น อย่าง สิทธิบัตรอเมริกา US patent US6221371B1 กับสิทธิบัตรเกาหลี KR20120041294A

ในสิทธิบัตรของอเมริกายังกล่าวว่าตัว PC-9S ยังสามารถเสริมการสร้าง Ceramide ตามธรรมชาติของผิวได้อีก

ส่วนตรงนี้จะเป็นภาพการเรียงตัวของ PC-9S ในรูปแบบ MLE จากสิทธิบัตร KR20120041294A นะคะ

(Image from Korean patent KR20120041294A)

มีพระเอกแล้วก็ต้องมีพระรอง คือ Capryloyl salicylic acid ตัวนี้จัดเป็น Lipohydroxy acid หรือ LHA ซึ่งเป็นอนุพันธ์ที่เกิดจาก Salicylic acid ที่จัดเป็น BHA โดยว่ากันว่า LHA จะลงผิวได้น้อยเลยให้คุณสมบัติผลัดผิวได้ดี

มีการทดสอบหนึ่งที่ศึกษาตั้งแต่ปี 2008 โดยเทียบประสิทธิภาพในการผลัดผิวของ 5-10% LHA กับ 20-50% AHA ในคลินิกเป็นเวลา 12 อาทิตย์ พบว่า LHA ให้ประสิทธิภาพไม่ต่างกันกับ AHA ทั้งในด้านของริ้วรอยตื้นๆ และความสม่ำเสมอของสีผิว (J Cosmet Dermatol. 2008; 7(4):259-62.) แต่การศึกษานี้ใช้ความเข้มข้นค่อนข้างสูง และทำในคลินิกนะคะ

คุณสมบัติในภาพรวมของ LHA คือ มีประโยชน์ในด้านของการดูแลปัญหาริ้วรอยตื้นๆ ปัญหาสิว และสีผิวไม่สม่ำเสมอ

AHA 3 ชนิด คือ Glycolic acid, Lactic acid และ Citric acid คู่กับ Sodium citrate ซึ่งตรงนี้ไม่แน่ใจว่าหวังผลผลัดผิวด้วยหรือไม่ หลักๆ ก็จะเด่นเรื่องเติมน้ำ ให้ความชุ่มชื้นผิว

Panthenol หรือ โปรวิตามินบี 5 ซึ่งเด่นในด้านของการลดการอักเสบระคายเคือง ให้ความรู้สึกสบายผิว และเพิ่มความชุ่มชื้น

Betaine เป็นอนุพันธ์ของกรดอะมิโน Glycine มีคุณสมบัติในด้านของการดูแลปัญหาเรื่องการระคายเคืองของผิวเช่นเดียวกัน

Zinc PCA เป็นสารผสมของ PCA กับ Zinc ซึ่งข้อมูลของผู้ผลิตวัตถุดิบกล่าวว่า นางมีประโยชน์ในการเพิ่มความชุ่มชื้นผ่านการเติมน้ำให้ผิว พร้อมกับควบคุมความมัน และ ดูแลปัญหาเรื่องริ้วรอยและชะลอวัยไปพร้อมๆ กัน

ส่วนผสมอื่นๆ ก็ถือว่าเลือกมาได้ค่อนข้างดีนะคะ เพราะมีอยู่เท่าที่จำเป็น และไม่มีสารที่ไม่เป็นมิตรกับผิว

Disclaimer: ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับมาจากทางแบรนด์ในรูปแบบของของขวัญ การรีวิวครั้งนี้เป็นการวิเคราะห์ส่วนผสม/วัตถุดิบตามหลักการทางวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางและอาศัยความเห็นส่วนบุคคล ผู้เขียนไม่ได้มีผลประโยชน์ใดๆในการขายสินค้าและไม่ได้รับค่าตอบแทนในการรีวิว โปรดใช้วิจารณญาณ

Image

รีวิว/วิเคราะห์ส่วนผสม ไนท์ครีมวิตามินเอ ขั้นกว่าของ Vitalift กับ Vitalift Renew Youth Retinal จากแบรนด์ Dr.Different

วันนี้ขอหยิบเอาผลิตภัณฑ์ดีๆ จากแบรนด์ Dr.Different มารีวิว/วิเคราะห์ส่วนผสมอีกสักชิ้นนะคะ

ส่วนตัวเคยรีวิวผลิตภัณฑ์หลายๆ ชิ้นจากแบรนด์นี้ไปแล้ว แต่ละตัวเรียกได้ว่าค่อนข้างชอบ ถึงชอบมากเลยล่ะ

วันนี้เลยขอหยิบเอาน้องใหม่ล่าสุด ที่เป็นขั้นกว่าของพี่ๆ กลุ่มของ Vitalift ซึ่งสูตรนี้มาในหลอดสีดำ มีชื่อว่า Vitalift Renew Youth Retinal หน้าตาประมาณนี้ค่ะ

ตัวหลอดด้านในจะคล้ายกับซีรี่ส์ Vitalift ที่มีมาก่อนหน้า แต่มาในสีดำล้วน ที่ดูแล้วให้ความรู้สึก Luxury

สำหรับเนื้อครีมจะมีสีออกเหลือง ซึ่งเป็นสีตามธรรมชาติของ Retinaldehyde ค่ะ

เนื้อครีมค่อนข้างชุ่มชื้นและหนักกว่าตัวอื่นในซีรี่ส์ก่อนหน้า ซึ่งเข้าใจว่าอาจจะทำมาเพื่อตอบโจทย์ผู้ที่เริ่มมีอายุ เพราะมักจะมีปัญหาผิวแห้ง และส่วนตัวเป็นคนผิวแห้งเลยชอบเนื้อครีมตัวนี้

ก่อนไปวิเคราะห์ส่วนผสมขอเอาผลการใช้งานที่เวลา 40 วัน มาเทียบก่อนค่ะ

จริงๆ ดูจากภาพอาจจะไม่ค่อยชัดมาก แต่เท่าที่รู้สึกและสัมผัสได้เมื่อใช้ไปครบ 40 วัน คือ รู้สึกถึงความนุ่ม และความแน่นของผิว แล้วก็เวลาแต่งหน้ามีเมคอัพตกร่องน้อยลง และติดทนนานมากขึ้น แม้จะดูจากภาพไม่ชัดเจนนัก

ลองดูในอีกภาพที่เป็นการลงรายละเอียดมากขึ้น อาศัยการปรับความคมชัดของภาพที่ระดับเดียวกันผ่านโปรแกรม Photoscape ถ้าตัดประเด็นเรื่องสีผิวออกไป จะพบว่าผิวดูเหมือนจะละเอียดมากขึ้น ความหยาบลดลง และ รูขุมขนดูเล็กลง ซึ่งสอดคล้องไปกับความรู้สึกนุ่ม และการตกร่องของเมคอัพ

สำหรับส่วนผสมเป็นดังนี้นะคะ

จากภาพจะเห็นว่าส่วนผสมของตัว Vitalift สูตรใหม่มีด้วยกันหลายกลุ่มนะคะ ขอเล่าไปทีละกลุ่มเลยค่ะ ในกลุ่มเดียวกันก็จะมีสีเดียวกัน โดยส่วนตัวพยายามรวบกลุ่มสารที่มีประโยชน์คล้ายๆ กันให้อยู่ด้วยกัน

สำหรับสารในกลุ่มสีเขียวจะเป็นกลุ่มของพวกน้ำมันที่มีประโยชน์ในด้านของการดูแล Barrier ผิวให้ผิวเราแข็งแรง ซึ่งถ้าผิวแข็งแรง ผิวก็จะมีสุขภาพดี และมีแนวโน้มเกิดการระคายเคืองน้อยกว่าผิวที่มี Barrier บอบบางกว่า

กลุ่มสีฟ้าจะเป็นกลุ่มของพวกสารเพิ่มความชุ่มชื้นผ่านการช่วยผิวเก็บกักน้ำ อย่าง Hya และ Sodium polyglutamate ที่หลายๆ ท่านคุ้นเคย และมีคุณสมบัติที่ดีในการเพิ่มความชุ่มชื้น โดยมีอีกตัวหนึ่งที่น่าสนใจ คือ สารที่ได้จากการทำอนุพันธ์ของ กรดอะมิโน Glutamic acid อย่าง Phytosetryl/Behenyl/Octyldodecyl lauroyl glutamate ที่ดูเผินๆ เหมือนจะเป็นพวก Surfactant แต่นางเป็นสารที่สามารถเรียงตัวในรูปแบบของ Liquid crystal ได้เหมือนกับ Ceramide ที่เป็นองค์ประกอบของ Barrier ผิว จึงมีประโยชน์ในด้านของความชุ่มชื้นได้ไม่แตกต่างจากการใช้ Ceramide

กลุ่มของสีน้ำเงินเป็นกลุ่ม peptide ที่ผสมกันอย่างเป็นเอกลักษณ์ภายใต้เครื่องหมายทางการค้าว่า ElagenpeptideTM ซึ่งประกอบด้วย peptide 12 ชนิด ที่เลือกมาให้เสริมกันเป็นอย่างดี ขอเลือกบางตัวมากล่าวรายละเอียดนะคะ

  • Copper tripeptide-1 ตัวนี้น้องเป็นเปปไทด์ตัวหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะมีรายงานการวิจัยกล่าวถึงอยู่หลายฉบับ โดยนางมีประโยชน์กับผิวค่อนข้างกว้างในด้านของการชะลอวัยและการลดเลือนริ้วรอย ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติในการเสริมการสังเคราะห์คอลลาเจน และ Matrix อื่นๆ ปกป้องไม่ให้สารเหล่านี้สลายตัว (BioMed Research International. 2015; 648108.) รวมถึงยังมีประโยชน์ในด้านของการสมานผิว และดูแลเรื่องการอักเสบระคายเคือง (Int J Mol Sci. 2018 Jul; 19(7): 1987.)
  • Tripeptide-29 ตัวนี้เป็นเปปไทด์ที่เกิดจากกรดอะมิโน 3 ตัว คือ Glycine-Proline-Hydroxyproline ซึ่งเจ้า Hydroxyproline เป็นกรดอะมิโนชนิดพิเศษที่พบได้ในสายคอลลาเจน การทดสอบในระดับเซลล์เพาะเลี้ยงของทางผู้ผลิตวัตถุดิบกล่าวว่า Tripeptide-29 เพิ่มการสังเคราะห์คอลลาเจน
  • Hexapeptide-12 เปปไทด์ที่เกิดจากการจัดเรียงตัวของกรดอะมิโนที่เหมือนกับส่วนหนึ่งของสายเส้น Elastin ในผิว ทางผู้ผลิตวัตถุดิบได้ทดสอบประสิทธิภาพในอาสาสมัคร พบว่าสารดังกล่าวมีคุณสมบัติช่วยเพิ่มความกระชับ และปรับสมดุลโทนสีผิว
  • Hexapeptide-9 ตัวนี้เป็นเปปไทด์ที่เกิดจากการจัดเรียงตัวของกรดอะมิโนที่เหมือนกับส่วนหนึ่งของสายเส้นคอลลาเจน ทางผู้ผลิตวัตถุดิบได้กล่าวว่า หน่วย Glycine-Proline-Glutamine ใน Hexapeptide-9 เป็นส่วนสำคัญของคอลลาเจน จึงมีประโยชน์ในการเสริมการสร้างคอลลาเจนของผิว โดยเฉพาะ Collagen IV และ VII ซึ่งเป็นองค์ประกอบของชั้น Dermal-Epidermal Junction หรือ DEJ ที่ทำหน้าที่พยุงเอาชั้นผิวหนังภายนอกไว้ ไม่ให้ยุบตัวลงมาเกิดเป็นริ้วรอยลึก และเสริมกระบวนการ Wound healing ของผิว
  • Nicotinoyl tripeptide-35 เป็นเปปไทด์สายสั้นๆ ที่มาจับกับวิตามินบี 3 เมื่อลงไปในผิวได้จะถูกแปรสภาพได้เป็นวิตามินบี 3 และ tripeptide-35 ได้ประโยชน์ทั้งจากวิตามินบี 3 และจากเปปไทด์ ไปพร้อมๆ กัน
  • Acetyl hexapeptide-8 ตัวนี้เป็นเปปไทด์ชื่อดังตัวหนึ่งที่ ที่รู้จักกันในชื่อทางการค้าว่า Argireline ออกฤทธิ์ผ่านระบบประสาทที่เชื่อมต่อกล้ามเนื้อ (Neuromuscular junction-NMJ) ทำให้กล้ามเนื้อที่หดตัวเกิดเป็นริ้วรอยคลายตัว ทำให้ผิวแลดูเรียบขึ้น แต่ผลที่เกิดอยู่ไม่นาน

สีชมพูเป็นกลุ่มของวิตามิน ซึ่งทางแบรนด์เลือกใช้วิตามินบี 3 วิตามินเอ ในรูปแบบ Retinaldehyde วิตามินซี ในรูปแบบ Sodium ascorbyl phosphate และวิตามินอี ซึ่งจริงๆ วิตามินในแต่ละตัวก็จะมีประโยชน์หลายๆ อย่างแตกต่างกันไป ถ้ากล่าวแบบสรุปก็จะประมาณด้านล่าง

  • วิตามินบี 3 มีประโยชน์ในด้านของ Whitening, ดูแลเรื่องการอักเสบระคายเคือง และความแข็งแรงของ Barrier ผิว
  • วิตามินเอ มีประโยชน์หลายประการ โดยเด่นในเรื่องของการดูแลเรื่องริ้วรอย และปัญหาที่เกิดพร้อมๆ กับการ Aging
  • วิตามินซี มีประโยชน์ในด้าน Antioxidant, Whitening เป็นส่วนหนึ่งในการสังเคราะห์คอลลาเจน และดูแลเรื่องการอักเสบละคายเคือง
  • วิตามินอี เป็น Antioxidant ในส่วนของไขมัน ปกป้องไม่ให้โครงสร้างที่เป็นไขมันถูกทำลาย

ปิดท้ายด้วยสีส้ม เป็นสารเสริมในด้านของ Antioxidant และการดูแลเรื่องริ้วรอย อย่างสารสกัดจากแครอทที่มีเบต้าแคโรทีนซึ่งสามารถสะสมตัวในบริเวณผิว ร่วมกับเบต้าแคโรทีนอิสระ และ Adenosine  

โดยรวมคือเป็นครีมบำรุงที่มีประโยชน์ต่อผิวไปหลายๆ ด้านพร้อมกัน โดยเด่นที่ด้านของการชะลอวัย ชะลอการเกิดริ้วรอยใหม่ รวมถึงดูแลเรื่องริ้วรอยที่เกิดมาแล้ว ยาวไปถึงด้านความชุ่มชื้น ผิวแข็งแรง ดูแลปัญหาสิว และ Whitening ไปพร้อมๆ กัน

สำหรับส่วนผสมอื่นๆ ถือว่าทางแบรนด์เลือกมาได้ค่อนข้างดี ไม่มีส่วนผสมของสารที่ไม่เป็นมิตรกับผิว

มาให้คะแนนกันดีกว่าค่ะ

  1. สารบำรุง หรือ Actives ตามที่ได้เกริ่นไปในด้านบน ครีมตัวนี้สามารถดูแลปัญหาผิวได้หลายประการ และค่อนข้างเด่นไปในด้านของการชะลอวัย และดูแลริ้วรอยให้แลดูจางลง ทั้งยังครอบคลุมไปถึงด้านความชุ่มชื้น ผิวแข็งแรง ดูแลปัญหาสิว และ เป็น Whitening ไปพร้อมๆ กัน หลอดเดียวครบจบทุกปัญหา แต่ห้ามทากลางวัน และห้ามผู้ที่วางแผนจะตั้งครรภ์ใช้ ให้ไป 5 ฟลาสก์
  2. ส่วนผสมอื่นๆ หรือ Base ไม่มีส่วนผสมที่ไม่เป็นมิตรกับผิว เลยไม่มีที่ให้หักคะแนน รับไป 5 ฟลาสก์
  3. การใช้งาน ส่วนตัวได้ลองใช้ไนท์ครีมตัวนี้มาเป็นเวลาเกือบๆ เดือนครึ่ง สิ่งที่รู้สึกได้คือเรื่องของความเรียบเนียน ความนุ่มและแน่นของผิว ซึ่งจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเมื่อใช้ไปเรื่อยๆ จุดนี้ตนเองค่อนข้างชอบ และจะมาอัพเดทอีกครั้งเมื่อใช้ต่อไปอีก ให้ไป 5 ฟลาสก์

สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณทางแบรนด์ Dr.Different (สาขาประเทศไทย) ที่ส่งผลิตภัณฑ์ดีๆ มาให้ได้ทดลองใช้ และขอบคุณทุกๆ ท่านที่ติดตามรับชมมาจนจบด้วยนะคะ

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ทางแบรนด์โดยตรงเลยนะคะ

https://www.facebook.com/DrdifferentTH

Disclaimer/conflict of interests: ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับการสนับสนุนจากทางแบรนด์ Dr.Different การรีวิวครั้งนี้เป็นการวิเคราะห์ส่วนผสม/วัตถุดิบตามหลักการทางวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางและอาศัยความเห็นส่วนบุคคล และผู้เขียนไม่ได้มีผลประโยชน์ใดๆในการขายสินค้า โปรดใช้วิจารณญาณ

Image

รีวิว/วิเคราะห์ส่วนผสมครีมสำหรับดูแลปัญหาผิวบอบบาง รอยแดงและการระคายเคือง Ultrasensitive Repair Cream จาก Eucerin

สวัสดีค่ะ สำหรับ Blog นี้จะเป็นบทวิเคราะห์ส่วนผสมและรีวิวผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งที่เชื่อว่าน่าจะตอบโต

ผลิตภัณฑ์ที่จะวิเคราะห์ส่วนผสมวันนี้มาจากแบรนด์ Eucerin แบรนด์เวชสำอางที่อยู่คู่กับบ้านเรามานาน จนจะเรียกว่าเป็นแบรนด์เวชสำอางแบรนด์แรกๆ ของไทยเลยก็ว่าได้

ผลิตภัณฑ์ที่จะมาวิเคราะห์ส่วนผสมครั้งนี้มีชื่อว่า Eucerin UltraSensitive Repair Cream ซึ่งมาในหน้าตาแบบนี้นะคะ

ตัวบรรจุภัณฑ์มีหน้าตาประมาณนี้นะคะ

จุดที่น่าสนใจจุดแรก คือ บรรจุภัณฑ์มีเทคโนโลยี Air-free system ที่มีส่วนของจุกปิดบริเวณปลายของปั๊มค่ะ เมื่อเรากดปั๊มจุกดังกล่าวจะเคลื่อนที่เข้าไปด้านใน เพื่อให้เนื้อครีมออกมา และพอเราคลายแรงกด ตัวจุกก็จะกลับมาปิดเหมือนเดิมเพื่อลดการปนเปื้อนจากภายนอก

สำหรับเนื้อครีมจะมาในเนื้อที่ข้นหน่อยนะคะ ไม่มีกลิ่น เพราะไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม

เกลี่ยได้ง่าย ให้สัมผัสที่อาจจะเหนอะเล็กน้อย แต่ตัวเองเป็นคนผิวแห้งก็เลยชอบความชุ่มแบบนี้

สำหรับส่วนผสมเป็นดังนี้นะคะ

ซึ่งจุดเด่นที่แบรนด์เคลม คือ ประกอบด้วยส่วนผสมที่เด่นในด้านของการดูแลผิวที่มีปัญหาบอบบาง 3 ชนิด ได้แก่ Symsitive, Licochalcone A และ Dexpanthenol ซึ่งจะมาเล่าให้ฟังอีกทีนะคะ

ส่วนผสมวันนี้ได้ทำไว้ 4 สีค่ะ

ขอเริ่มที่สูตรผสมของ Pentylene glycol และ 4-t-Butylcyclohexanol คือตัว Symsitive ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นในแง่ของการลดการอักเสบระคายเคือง และลดความรู้สึกไม่สบายผิว ซึ่งออกฤทธิ์ผ่านกลไกการยับยั้ง Receptor รับความรู้สึกร้อน-เย็นในกลุ่ม TRP receptor โดยตัวนี้จะไปโฟกัสที่ TRPV receptor ซึ่งรับความรู้สึกร้อน

ขอเล่าประวัติน้องนิดหน่อยนะคะ เจ้า TRPV-1 receptor นี้ถูกกระตุ้นได้ด้วยสารหลายชนิด อย่างที่เรารู้จักกันก็คือ Capsaicin จากพริก ลองจินตนาการเวลาเราหั่นพริก เราก็จะรู้สึกแสบร้อนที่มือ เพราะ Capsaicin ไปจับกับ TRPV receptor ทำให้เกิดการส่งผ่านความรู้สึกว่าฉันร้อน ฉันแสบ เช่นเดียวกัน กรณีของผิวระคายเคือง รู้สึกร้อนวูบวาบ ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากสารเคมีบางชนิดไปจับกับ Receptor รับความรู้สึกร้อน-เย็นในกลุ่ม TRP receptor เลยทำให้รู้สึกร้อนแสบระคายเคือง ก่อนจะมีการไปกระตุ้นให้เกิดอาการระคายเคือง และรอยแดงต่อมา (Iftinca, et al. Drugs. 2021;81:7–27) อารมณ์ประมาณภาพนี้

(Image source: The Author 2011. Published by Oxford University Press, CC BY-SA 2.5, via Wikimedia Commons)

ซึ่งจุดนี้บทความของ Misery และคณะ (2016) ได้กล่าวว่า ผิวบอบบางแพ้ง่าย หรือ Sensitive skin นั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยหนึ่งในนั้นคือ การส่งสัญญาณประสาทผ่าน TRPV receptor ที่ถูกกระตุ้นผ่านกลไกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสารเคมี แรงทางกายภาพ รวมถึง ผ่านระบบกลไกต่างๆ ภายในและภายนอกร่างกาย (J Eur Acad Dermatol Venereol. 2016 Feb;30 Suppl 1:2-8.) ทำให้รู้สึกแสบ คัน ระคายเคือง และไม่สบายผิว

อีกชิ้นงานหนึ่งก็น่าสนใจนะคะ บทความของ Guin และคณะ (2017) ได้กล่าวว่า TRP receptor มีผลต่อการเกิดการอักเสบของผิวผ่านระบบของการหลั่งสารที่เกี่ยวข้องกับระบบของเส้นประสาท (Neuropeptide) ซึ่งทำให้เกิดอาการระคายเคือง คัน และรอยแดง โดยอาจจะเป็นในระยะยาว หรือเป็นแบบเรื้อรัง (Protein Cell. 2017;8(9):644-661.) สำหรับเจ้า 4-t-Butylcyclohexanol นี้ นางจะเป็นสารที่ไปยับยั้งไม่ให้ TRPV-1 receptor ทำงาน จึงไม่เกิดการส่งผ่านความรู้สึกแสบร้อนเข้าไป การรู้สึกร้อนแสบระคายเคืองก็จะลดลง มีการทดสอบทางคลินิกยืนยันถึงประสิทธิภาพอยู่หลายชิ้นเหมือนกัน ขอเลือกอันที่น่าสนใจมาเล่าให้ฟังนะคะ

  • Srour และคณะ (2020) ได้ทดสอบประสิทธิภาพของครีมที่มี 4-t-Butylcyclohexanol ในการลดการระคายเคืองของผู้ป่วยที่มีอาการผิวอักเสบบริเวณรอบปาก โดยให้ทาครีมดังกล่าวเป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น รวมถึงมีค่าความชุ่มชื้น และมีการระเหยของน้ำออกจากผิว (TEWL) ลดลง แสดงให้เห็นว่า Barrier ผิวกลับมามีสุขภาพที่ดีขึ้น (J Cosmet Dermatol. 2020;19(6):1409-1414)
  • Schoelermann และคณะ (2016) ได้ทดสอบเปรียบเทียบประสิทธิภาพของครีมที่มี 4-t-Butylcyclohexanol กับ acetyl dipeptide-1 cetyl ester ในการลดการระคายเคืองจาก Capsaicin ในผู้ที่มีปัญหา Sensitive skin โดยให้อาสาสมัครทาครีมดังกล่าวเป็นเวลา 3 วัน แล้วมาทดสอบประสิทธิภาพในการลดการระคายเคืองหลังจากทา Capsaicin พบว่า 4-t-Butylcyclohexanol ลดการระคายเคืองได้ตั้งแต่ช่วง 1 – 2 นาทีแรก และให้ผลไม่ต่างจากครีมที่มี acetyl dipeptide-1 cetyl ester (J Eur Acad Dermatol Venereol. 2016;30 Suppl 1:18-20.)

ต่อมาสีฟ้า สารสกัดจาก Glycyrrhiza inflata หรือ ชะเอมจีน ประกอบด้วยสารพฤกษเคมี Licochalcone A เป็นสารสำคัญ ซึ่งสารนี้โดยตัวมันเองมีคุณสมบัติเด่นในด้านการลดการอักเสบระคายเคือง โดยน้องจะไปลดการอักเสบ โดยลดการสร้าง Prostaglandin E2 และลดการทำงานของระบบ NF-kB (อ่านว่า เอ็นเอฟ คัปป้าบี) ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบผ่านหลายกลไก (J Eur Acad Dermatol Venereol. 2016;30 Suppl 1:9-17.) ในระดับหลอดทดลอง มีการทดลองอยู่หลายชิ้นที่พบว่า การเสริมฤทธิ์กันของ Licochalcone A กับ 4-t-Butylcyclohexanol นั้นให้ผลที่ดีขึ้นในการลดการระคายเคือง คัน แดง ของผู้ที่มีปัญหา Sensitive skin ขอเลือกหยิบอันที่น่าสนใจมาเล่าให้ฟังค่ะ

  • การทดลองของ Sulzberger และคณะ (2016) ได้ทดสอบประสิทธิภาพของครีมที่มีส่วนผสมของ 4-t-Butylcyclohexanol และ Licochalcone A พบว่าลดรอยแดงหลังจากการโกนขนได้ (J Eur Acad Dermatol Venereol. 2016;30 Suppl 1:9-17.)
  • การทดลองของ Boonchai และคณะ (2018) ได้ทดสอบประสิทธิภาพของครีมที่มีส่วนผสมของ 4-t-Butylcyclohexanol และ Licochalcone A (จะขอย่อว่า T+L) ในการรักษาอาการผิวหนังอักเสบ (Dermatitis) เปรียบเทียบกับตัวยา Steroid Triamcinolone acetonide (ความเข้มข้น 0.02%) เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าทั้ง 2 ตัวให้ผลในการลดอาการระคายเคือง คัน รอยแดงได้ไม่ต่างกัน เพียงแต่ ครีมที่มีตัวยาจะเห็นผลในการลดอาการ และการอักเสบไวกว่า ส่วนครีม T+L นั้นมีประโยชน์ในด้านการลดรอยแดง และเพิ่มความชุ่มชื้นของผิวมากกว่า (J Cosmet Dermatol. 2018;17(6):1130-1135.)
  • อีกสักชิ้น การทดลองของ Jovanovic และคณะ (2017) ทดสอบประสิทธิภาพของครีม T+L ในอาสาสมัคร Sensitive skin ที่เกิดรอยแดงได้ง่าย และมีความเสี่ยงในการเป็น Rosacea โดยให้อาสาสมัครทาครีมเป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าอาการต่างๆ ลดลงเมื่อเทียบกับก่อนการใช้ครีม (J Drugs Dermatol. 2017;16(6):605-610.)

สีชมพู Panthenol หรือ โปรวิตามินบี 5 ตัวนี้เป็นที่ทราบกัน เป็นตัวดั้งเดิมเลยที่ให้ประโยชน์ในแง่ของการลดการระคายเคือง เพิ่มความชุ่มชื้น เสริมการแบ่งตัวของผิว และ ช่วยฟื้นฟู Barrier ผิว

สุดท้าย สีเขียวมะกอก Shea butter เอาจริงๆ ส่วนตัวไม่ค่อยได้กล่าวถึง Shea butter นะคะ แต่วันนี้ขอนิดหน่อย เพราะไหนๆ ก็ดูเรื่องการลดการอักเสบและระคายเคืองแล้วเลยอยากเล่าว่าใน Shea butter ประกอบด้วยสารในกลุ่ม Unsaponifiables หลายชนิด ซึ่งที่น่าสนใจคือ Phytosterols ที่มีคุณสมบัติในการลดการอักเสบระคายเคืองเช่นกัน

สำหรับส่วนผสมอื่นๆ ก็มีเท่าที่จำเป็น ทำให้ไม่กวนผิวมาก ซึ่งถือว่าเหมาะมากกับผู้ที่มีปัญหาผิวบอบบางแพ้ง่าย

มาสรุปคะแนนกันดีกว่าค่ะ

  1. สารบำรุง เรียกได้ว่าสมกับเป็นแบรนด์เวชสำอางอย่าง Eucerin ที่พัฒนาตัวนี้มาเพื่อตอบโจทย์ Sensitive skin โดยเฉพาะกลุ่มที่มีปัญหาระคายเคือง แสบร้อน คัน และรอยแดงได้อย่างสมศักดิ์ศรี รวมถึงมีงานวิจัยรองรับ จุดนี้ก็ให้ไป 5 ฟลาสก์
  2. ส่วนผสมอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวไปว่า มีการเลือกใส่สารอื่นๆ เป็นส่วนผสมเท่าที่จำเป็น ซึ่งเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาผิวบอบบางแพ้ง่าย เพราะไม่กวนผิวมากนัก รับไป 5 ฟลาสก์
  3. การใช้งาน ส่วนตัวได้ลองใช้ นานๆ ที จะมีปัญหาแสบร้อน แดง และคัน และระคายเคืองเมื่อเปลี่ยนอุณหภูมิ จากที่ร้อนไปเย็น อย่างห้องแอร์ หรือ จากห้องแอร์ออกมาข้างนอก พอได้ใช้ครีมตัวนี้ในตอนเช้า ติดกันราวๆ 2 อาทิตย์ รู้สึกว่าการเปลี่ยนอุณภูมิแทบไม่ทำให้เกิดอาการคันเลย (ในการลองใช้ผลิตภัณฑ์นี้ส่วนตัวลองหลังจากหยุดใช้อีกตัวหนึ่งที่มีผลป้องกันด้านอุณหภูมิไปแล้วนะคะ) ในขณะที่แขน มือ และเท้า ยังมีรอยแดงและมีอาการคันอยู่ จุดนี้ส่วนตัวมองว่าค่อนข้างชอบค่ะ ให้ไป 5 ฟลาสก์

สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณทางแบรนด์ Eucerin ด้วยนะคะที่ส่งผลิตภัณฑ์ดีๆ มาให้ได้รู้จักและทดลองใช้ และขอขอบคุณทุกท่านด้วยค่ะที่ติดตามรับชมมาจนจบ

UltraSENSITIVE Repair Cream 50ml ราคา 1,170.-

รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถอ่านได้จาก https://www.eucerin.co.th/products/hypersensitive-skin/ultrasensitive-repair-cream-50ml

สถานที่จัดจำหน่าย  ร้านวัตสัน ร้านบู๊ทส์ ร้านขายยาขนาดใหญ่ และโรงพยาบาลชั้นนำทั่วไป

Disclaimer/Conflict of interest: ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับการสนับสนุนจากทางแบรนด์ Eucerin การรีวิวครั้งนี้เป็นการวิเคราะห์ส่วนผสม/วัตถุดิบตามหลักการทางวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางและอาศัยความเห็นส่วนบุคคล และผู้เขียนไม่ได้มีผลประโยชน์ใดๆในการขายสินค้า โปรดใช้วิจารณญาณ

Image

วิเคราะห์ส่วนผสมเซรั่มดูแลปัญหาสิวแบบองค์รวมจากแบรนด์ Acnevit สูตร Oil-free Vitamin C Rich Complex

สวัสดีค่ะทุกท่าน วันนี้มี่จะมาวิเคราะห์ส่วนผสมกับเล่ารายละเอียดคร่าวๆ ของเซรั่มฃดูแลปัญหาสิวต่างๆ ของผู้ที่มีผิวมัน และผิวอุดตันง่ายจากแบรนด์ Acnevit

แบรนด์ Acnevit จัดได้ว่าเป็นแบรนด์เวชสำอางแบรนด์หนึ่งที่น่าสนใจ โดยตัวผลิตภัณฑ์จะมีจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์คือ “Vitamin C Rich Complex” โดยทางแบรนด์ได้ทดสอบเจ้า Complex นี้ทั้งในระดับหลอดทดลอง และในอาสาสมัคร อยู่หลายอย่าง ก็ดูแล้วดีงามอยู่นะคะ

โดยสำหรับวันนี้เรียกได้ว่าเป็น Mini-Review นะคะ เพราะส่วนตัวไม่ได้มีปัญหาสิวมานานแล้ว เลยขอเป็นการเอาส่วนผสมมาเล่าสู่กันฟัง พร้อมกับจะเล่ารายละเอียดของการทดสอบที่แบรนด์ได้ทดสอบ บางการทดสอบมาแชร์ให้ทุกท่านได้อ่านกันค่ะ

ว่าแล้วก็ไปดูที่ตัว Product ของ Acnevit น้องจะมาในกล่องที่มีหน้าตาประมาณนี้นะคะ

โดยด้านในจะมีตัวบรรจุภัณฑ์ล็อกไว้อยู่ค่ะ

โดยจะมีหน้าตาประมาณนี้

จุดที่น่าสนใจคือ ตัวแพคเกจมีลักษณะที่สามารถบ่งบอกได้ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเคยถูกเปิดใช้มาแล้วหรือยัง โดยถ้าเปิดแล้ว วงแหวนสีฟ้าจะหลุดออกมาจากฝาจุกค่ะ

ซึ่งส่วนตัวคิดว่ามันน่าสนใจและให้ความรู้สึกปลอดภัย

เนื้อของเซรั่มมาในรูปแบบของเบสน้ำใส มีความหนืดเล็กน้อย ไม่มีกลิ่น เนื่องจากไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม

เกลี่ยได้ง่าย ช่วงแรกจะรู้สึกหนึบ แต่พอผ่านไปไม่ถึง 1 นาที ก็จะรู้สึกนุ่มนวล และชุ่มชื้น

สำหรับค่า pH อยู่ที่ราวๆ 5 นะคะ

ก่อนไปดูส่วนผสม อยากเล่าเกี่ยวกับการทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์สักหน่อยค่ะ ส่วนแรกที่น่าสนใจคือ การทดสอบความสามารถในการกำจัดเชื้อ P. acnes หรือ ชื่อใหม่ของน้อง คือ Cutibacterium acnes

(Image from Acnevit Official Website)     

ซึ่งพบว่าเซรั่ม Acnevit สามารถลดจำนวนของ C. acnes ลงได้ในระดับหลอดทดลอง

การทดสอบถัดมาเป็นการทดสอบประสิทธิภาพในอาสาสมัคร เป็นเวลา 12 สัปดาห์ (84 วัน)

(Images from Acnevit Official Website)  

ซึ่งข้อมูลจากการทดสอบในอาสาสมัครก็พบว่าให้ผลดีเช่นกัน

โดยจุดสำคัญที่แบรนด์เน้นมากของน้องเซรั่มนี้คือ


❤สามารถช่วยดูแลเรื่องสิวได้โดยไม่มีสารก่อให้เกิดการระคายเคือง ซึ่งถ้าเป็นเครื่องสำอาง ก็มักจะเป็นพวก BHA และ/หรือ AHA หรือกรณีถ้าเป็นยาก็เป็นพวก Benzoyl peroxide (BP) กับพวก Azelaic acid

ซึ่งแน่นอนว่า เครื่องสำอางใส่ตัวยาไม่ได้อยู่แล้วเนาะ แต่ก็มีหลายเคสที่เกิดรอยดำหลังจากสิวหายเพราะการระคายเคืองจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้

ตัวนี้ทางแบรนด์เคลมว่าผู้หญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตรสามารถใช้ได้ โดยส่วนตัวมองว่า ในทางเครื่องสำอางเราไม่ได้มีการศึกษาความปลอดภัยของสารต่อทารกในครรภ์เหมือนยานะคะ โดยเราจะห้ามตัวที่อันตรายชัวร์ๆ ส่วนที่เหลือ ถ้าดูแนวโน้มแล้วไม่มีอันตราย ก็พอจะอนุโลมได้ค่ะ แต่อย่างไรก็ดี แนะนำให้ปรึกษาสูตินรีแพทย์ก่อนจะใช้ผลิตภัณฑ์อะไรก็ตามนะคะ

ด้านข้างกล่องมีข้อแนะนำ เพื่อตอบคำถามว่า เซรั่มนี้เหมาะกับใคร หรือ ปัญหาอะไร

  • สิวหัวขาว สิวหัวดำ หรือ สิวเสี้ยน
  • รูขุมขนกว้าง
  • Blotches (รอยสีผิวผิดปกติ เช่น ปื้นเหลือง รอยแดง)
  • ผิวมัน เงาวาว
  • Blemish (จุดด่างดำ ร่องรอยต่างๆ)
  • สีผิวไม่สม่ำเสมอ
  • (Bump) สิวอุดตัน หรือ สิวผดที่อยู่ด้านใน เวลาสัมผัสแล้วรู้สึกได้ว่าผิวไม่เรียบ

มาดูส่วนผสมกันดีกว่าค่ะ ส่วนผสมเป็นดังภาพ

สำหรับส่วนผสมวันนี้ทำไว้หลายสีนะคะ โดยจะขอเริ่มจากสีบานเย็น

  • Sodium ascorbyl phosphate (ขอย่อว่า SAP) ดูเผินๆ อาจจะแบบว่าก็แค่วิตามินซี ที่ละลายน้ำได้ แต่ความจริงแล้ว SAP มีการทดลองทั้งในระดับหลอดทดลอง และในอาสาสมัครยืนยันถึงประสิทธิภาพในการดูแลปัญหาสิว  
    • งานชิ้นแรกมาจาก Woolery-Lloyd และคณะ ได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพของโลชั่นที่มีส่วนผสมของ SAP ความเข้มข้น 5% ในอาสาสมัคร แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับ SAP อีกกลุ่มใช้โลชั่นที่ไม่มี SAP โดยให้อาสาสมัครทาเป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าอาการของสิวต่างๆ ดีขึ้นกว่าโลชั่นเปล่า และไม่เกิดอาการข้างเคียง (J Cosmet Dermatol. 2010;9(1):22-7.)
    • งานอีกชิ้นมาจาก Klock และคณะ ทดสอบประสิทธิภาพของ SAP ทั้งในระดับหลอดทดลอง โดยศึกษาผลในการฆ่าเชื้อก่อสิว (Cutibacterium acnes) ของ SAP ความเข้มข้น 1% พบว่ามีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อสิว ก่อนจะไปศึกษาประสิทธิภาพในอาสาสมัคร โดยให้อาสาสมัครทาครีมที่มี SAP 5% เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าได้ผลดี (Int J Cosmet Sci. 2005;27(3):171-6.)
  • Niacinamide เป็นรูปแบบหนึ่งของวิตามินบี 3 ซึ่งมีรายงานการวิจัยสนับสนุนถึงประสิทธิภาพหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมความมัน และการดูแลปัญหาสิว
  • Biotin เป็นวิตามินอีกตัวที่น่าสนใจ ในร่างกายเรา Biotin เป็นตัวประกอบ (Co-factor) ในการทำงานของเอนไซม์บางชนิด บางตัวมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างกรดไขมันของผิว การปรับสมดุลการแบ่งตัวของผิว จึงมีประโยชน์ในการดูแลปัญหาสิว โดยเฉพาะกรณีที่ต้องใช้สารกลุ่ม Retinoids ซึ่งทำให้ผิวแห้ง เพราะไปกดการสร้างไขมัน การเสริม Biotin เข้ามาจะลดอาการผิวแห้ง

สีม่วง ส่วนผสมของ Aqua (and) Butylene Glycol (and) PEG-60 Almond Glycerides (and) Caprylyl Glycol (and) Glycerin (and) Carbomer (and) Nordihydroguaiaretic Acid (and) Oleanolic Acid ตัวนี้เป็นวัตถุดิบของทาง Sederma ประเทศฝรั่งเศส วัตถุดิบชุดนี้อาศัยประโยชน์จาก Nordihydroguaiaretic Acid ในการปรับสมดุลการสร้างและผลัดเซลล์ผิว ซึ่งมีประโยชน์ในเชิงการลดการอุดตัน ร่วมกับ Oleanolic acid ที่มีประโยชน์ในการลดการสร้างน้ำมัน Sebum ผ่านฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ 5α-reductase ที่เปลี่ยนฮอร์โมนเพศชายให้มีฤทธิ์แรงขึ้น และกระตุ้นการสร้าง Sebum ออกมา โดยเจ้า Sebum นี้เป็นอาหารของ C. acnes พอ Sebum ลดลง C. acnes ไม่มีอาหาร ประกอบกับเจอ SAP ปริมาณมันก็จะลดลงไปโดยปริยาย.

สีน้ำเงิน Zinc lactate มีจุดเด่นในด้านของการควบคุมความมัน

สีส้ม สารสกัดจากบัวบก ที่โดดเด่นในแง่ของการดูแลการสร้างคอลลาเจน การสมานแผล จึงน่าจะมีประโยชน์ในการลดการเกิดแผลเป็นจากสิว

สีเขียว Betaine เป็นอนุพันธ์ของกรดอะมิโน Glycine มีประโยชน์ในการให้ความชุ่มชื้นและปรับ Feeling ของผลิตภัณฑ์ให้นุ่มนวล

ส่วนอีกจุดที่น่าสนใจ แม้จะไม่ใช่สารบำรุง คือ สีเขียวขี้ม้า Citric acid + Sodium citrate ทำหน้าที่เป็น Buffer เพื่อควบคุมค่า pH ให้คงที่ ซึ่งมีประโยชน์ในด้านของการปกป้องส่วนประกอบในตำรับเพื่อเสริมความคงตัว

โดยรวมคือเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลสิวที่ใช้ส่วนผสมมาดูแล ที่ 5 ปัญหาหลักในการเกิดสิว

  • ปรับสมดุลการสร้างและผลัดผิวให้เป็นปกติ เพื่อลดการอุดตันในรูขุมขน
  • ควบคุมการสร้างน้ำมันซึ่งเป็นอาหารของ C. acnes
  • กำจัด C. acnes
  • อาศัยประโยชน์จากวิตามินซีมาลดการอักเสบระคายเคือง Whitening ดูแลปัญหารอยแดง รอยดำ
  • ดูแลปัญหาด้านการสมานผิว ลดการเกิดรอยแผลเป็น

ในส่วนของเบสหลัก ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ น้ำหอม และส่วนผสมอื่นๆ ที่อาจจะก่อการระคายเคืองผิว

มาให้คะแนนกันดีกว่าค่ะ สำหรับวันนี้จะมีคะแนนในส่วนของสารบำรุง และ ส่วนผสมอื่นๆ เท่านั้น

  1. สารบำรุง (Active) ตามที่ได้กล่าวไปในด้านบน ว่ามีส่วนผสมที่มีประโยชน์ในการดูแลสิว และปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิวได้หลายประการ และส่วนตัวมองว่าค่อนข้างครอบคลุม และยังสมารถให้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่น ชุ่มชื้น ไวท์เทนนิ่ง ให้ความรู้สึกสบายผิว (Soothing) และการชะลอวัย ชะลอการเกิดริ้วรอย ขอให้ไป 5 ฟลาสก์
  2. ส่วนผสมอื่นๆ ส่วนตัวมองว่าทั้งเนื้อเบสหลัก และส่วนผสมอื่นๆที่ใส่มาเป็นสารปรุงแต่ง ล้วนเป็นมิตรกับผิว เลยไม่มีจุดให้หักคะแนน ให้ไป 5 ฟลาสก์

สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณทางแบรนด์ Acnevit สาขาประเทศไทยด้วยนะคะ ที่ส่งผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจมาแนะนำให้ได้รู้จัก และขอบคุณทุกท่านด้วยค่ะที่ติดตามรับชมมาจนจบ สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ทางแบรนด์ Acnevit หรือ เพจ DermArtlogy Thailand ซึ่งเป็นผู้นำเข้าได้โดยตรงเลยนะคะ

https://www.facebook.com/dermArtlogyThailand

Disclaimer/conflict of interests: ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับการสนับสนุนจากทางแบรนด์ Acnevit การรีวิวครั้งนี้เป็นการวิเคราะห์ส่วนผสมตามหลักการทางวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางและอาศัยความเห็นส่วนบุคคล และผู้เขียนไม่ได้มีผลประโยชน์ใดๆในการขายสินค้า โปรดใช้วิจารณญาณ

Image

รีวิว/วิเคราะห์ส่วนผสมเซรั่มสายคลีน จากแบรนด์ Her Hyness กับ Royal Hya Skin Strengthening shot ampoule

วันนี้มี่จะมาแนะนำผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ Her Hyness ที่เชื่อว่าหลายๆ ท่านน่าจะผ่านตามาบ้างตอนไปเดินเล่นในร้านวัตสัน

แบรนด์ Her Hyness เป็นแบรนด์เครื่องสำอางสายคลีน ที่มาในคอนเซปท์ว่า “เราอยากให้ผู้หญิงทุกคนมีผิวที่สวยที่สุด โดยไม่มีผลข้างเคียงใดๆ” ซึ่งในจุดนี้ทางแบรนด์เองก็ได้พัฒนาตำรับและเลือกส่วนผสมมาเป็นอย่างดี ใส่ใจต่อสุขภาพผิว พยายามหลีกเลี่ยงส่วนผสม 14 ชนิดที่หลายๆ คนกังวล และที่สำคัญก็ยังผ่านการทดสอบทางผิวหนังแล้วค่ะ

โดยผลิตภัณฑ์ที่หยิบมารีวิวและวิเคราะห์ส่วนผสมจะเป็นตัว Royal Hya Skin Strengthening Shot Ampoule ซึ่งส่วนตัวค่อนข้างถูกใจเซรั่มตัวนี้นะคะ อย่างแรกเลยคือด้านของส่วนผสม นางจัดมาเต็มมาก ทั้งกลุ่มของสารเติมน้ำ และสารไขมันทดแทน รวมถึงสารบำรุงอื่นๆ เรียกได้ว่าหลอดเดียวดูแลได้ครบเลย ส่วนเรื่องเนื้อสัมผัสของเซรั่มส่วนตัวว่ากำลังดีสำหรับสภาพผิวแห้งของตัวเอง และความรู้สึกหลังใช้เองก็รู้สึกว่า Feeling เขาทำมาได้ค่อนข้างดี เราจะรู้สึกนุ่มเรียบ (Smooth)  

ผลิตภัณฑ์นี้มีหน้าตาประมาณนี้นะคะ ตัวแพคเกจมาในรูปลักษณ์ที่สวยงาม ตัวภาชนะบรรจุเป็นระบบปิด ป้องกันการปนเปื้อนจากภายนอก

เนื้อของผลิตภัณฑ์มาในรูปแบบครีมเจล อารมณ์แบบกึ่งๆ เจล กึ่งๆ ครีม ไม่มีกลิ่นเนื่องจากไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม

เกลี่ยง่าย ค่อนข้างชุ่มชื้น สัมผัสหลังใช้ใหม่ๆ จะหนึบๆ แต่พอผ่านไปสักพัก ผิวจะนุ่มมากๆ

มาดูส่วนผสมและจุดเด่นของผลิตภัณฑ์กันดีกว่านะคะ

ส่วนผสมของสารบำรุงในวันนี้มี่ทำไว้หลายสีหน่อยนะคะ

  • สีชมพู Royal jelly หรือ นมผึ้ง ที่ประกอบด้วยสารเคมีจากธรรมชาติหลายชนิด มีบทความที่รวบรวมสารองค์ประกอบใน Royal jelly กล่าวว่า ใน Royal jelly ประกอบด้วยโปรตีน เปปไทด์ในกลุ่ม jelleines วิตามินกลุ่มวิตามินบี สารกลุ่ม Carbohydrates และกรดไขมันหลายชนิด โดยชนิดที่เป็นตัวเด่นคือ 10-hydroxy-2-decenoic acid หรือ 10H2DA ซึ่งมีฤทธิ์ทางชีวภาพมากมาย รวมถึวการต่อต้านเชื้อจุลินทรีย์ มีสารในกลุ่ม Sterol ที่ดูแลเรื่องการอักเสบระคายเคือง และ Flavonoid ที่เป็น Antioxidant หลายชนิด มีตัวหลักเป็น Chrysin ที่มีคุณสมบัติลดการอักเสบระคายเคือง ฟื้นฟูและปรับสภาพผิว (Molecules. 2020; 25(3): 556.) มีการทำ 10H2DA ขึ้นมาในระดับห้องปฏิบัติการก่อนเอาไปทดสอบฤทธิ์ในระดับหลอดทดลอง และอาสาสมัคร โดยพบว่าสารนี้มีคุณสมบัติในการฟื้นฟู Barrier ผิว เสริมความแข็งแรงให้แก่ชั้นผิว ลดการระเหยน้ำผ่านผิว จึงเป็นการช่วยผิวเก็บน้ำทางอ้อม การออกฤทธิ์นี้ผ่านการเสริมการสังเคราะห์โปรตีนและองค์ประกอบที่เป็น Marker หลายชนิด เช่น Involucrin ที่เป็นตัวสำคัญตัวหนึ่งให้ผิวชั้นขี้ไคลมีความแข็งแรง (Eur J Dermatol. 2011;21(6):906-15.) สำหรับนมผึ้งนี้ทางแบรนด์เคลมว่า ได้มาจากผึ้งสายพันธุ์ Swiss black bee จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่มีความแข็งแรงมากที่สุด จึงคาดว่าจะให้ประโยชน์ในการบำรุงผิวมากที่สุด
  • สีบานเย็น เป็นกลุ่มของ Hyaluronic หลากหลายชนิด หลากหลายขนาด ที่เสริมกันในการปกป้องและเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ชั้นผิวในหลายๆ ระดับความลึก ดังภาพ

(Image from Her Hyness)

คือ ผิวเรามันก็เหมือนกำแพงอิฐ บางทีไฮยาใหญ่ๆ มันลงไปไม่ได้ เพราะปูนที่ฉาบอิฐไว้มันแน่น มันก็จะได้แค่เติมน้ำบนๆ หลอกเราว่าผิวนุ่มชุ่มน้ำแล้วหละ แต่การใช้ไฮยาหลายขนาดใหญ่เล็ก รวมถึงอนุพันธ์ต่างๆ มันก็จะกระจายไปตามแนวกำแพงอิฐ ช่วยๆ กันจับน้ำให้ผิวเรานุ่ม และชุ่มชื้นในหลายๆ ระดับของผิว

มีอนุพันธ์ของ Hyaluron ตัวหนึ่งที่น่าสนใจ คือ Sodium linolenoyl hyaluronate ซึ่งเข้าใจว่าบนฉลากจะแยกเขียนเป็น Sodium hyaluronate กับ Linolenic acid เจ้า Sodium linolenoyl hyaluronate ตัวนี้ เอาประโยชน์ของ Linolenic acid กับ Hyaluronate มารวมกัน แต่กลายเป็นว่ารวมกันแล้วได้อะไรมากกว่านั้น อารมณ์แบบ 1 + 1 > 2 น้องมีประโยชน์ทั้งในด้านของ Whitening ด้านความชุ่มชื้น และ เพิ่มการสังเคราะห์ Hyaluronic acid ตามธรรมชาติของผิว

  • สีน้ำเงิน ส่วนผสมของ Ceramide NP, Ceramide AP, Ceramide EOP, Phytosphingosine, Cholesterol ในเบสผสมของ Sodium Lauroyl Lactylate, Carbomer, Xanthan Gum เป็นวัตถุดิบสูตรผสมของไขมันที่เป็นองค์ประกอบของ Barrier ผิวรวมกัน โดยเน้นไปที่ Ceramides เป็นหลัก เสริมมาด้วย Cholesterol เพื่อเสริมการฟื้นฟู Barrier ผิวตามธรรมชาติ ให้ผิวแข็งแรง ปกป้องผิวจากอันตรายภายนอก และป้องกันการสูญเสียน้ำออกจากผิว

อย่างที่ส่วนตัวจะชอบพูดเสมอว่า ผิวเรามีทั้งน้ำ และ น้ำมัน ซึ่งน้ำมันก็จะแบ่งเป็นน้ำมันบนผิว กับน้ำมันในผิว น้ำมันบนผิวก็คือ Sebum ที่สร้างออกมาจากต่อมไขมัน ช่วยเคลือบผิวไว้ชั้นหนึ่ง คนผิวแห้งมักจะมี Sebum น้อย น้ำเลยระเหยออกจากผิวได้ง่าย ก็เลยแห้ง ใน Sebum มี Squalene สควาลีน เป็นไขมันที่สำคัญ แต่ว่าทางเครื่องสำอางเราเอา สควาลีน มาใช้เลยไม่ได้เพราะมันไม่คงตัว เลยต้องดัดแปลงเป็น Squalane หรือ สควาเลน เพราะคงตัวกว่า สควาเลนก็เคลือบปกป้องผิวด้านนอกไป ส่วนไขมันในผิวก็เป็นพวก Barrier ผิว ตามที่ได้บอกในด้านบนนั่นเอง

และจากการที่ผิวเรามีทั้งน้ำและน้ำมัน การบำรุงที่ดี ก็ควรจะคืนทั้งน้ำและน้ำมันให้กับผิวไปพร้อมๆ กัน เพราะเวลาเราล้างทำความสะอาดหน้า พวก Cleansing มันเลือกไม่ได้หรอก ว่าจะเอาออกเฉพาะสารใดสารหนึ่ง มันก็ชะออกไปหมดนั่นแหละ การทดแทนด้วยการทาภายนอกเลยเป็นวิธีที่ง่ายในการดูแลผิวหลังล้าง

  • สีม่วง Hydrolyzed Rhodophyceae extract เป็นสารสกัดจากสาหร่ายสีแดงชนิดหนึ่งที่ผ่านกรรมวิธี สารตัวนี้ผู้ผลิตวัตถุดิบ Claim ว่ามีคุณสมบัติในการปกป้องผิวจากมลภาวะ และยังควบคุมความมันที่เกิดจากต่อมไขมันขับ Sebum ออกมามากเกินไปเมื่อถูกกระตุ้นด้วยมลภาวะ
  • สีพีช ประกอบด้วยสารสกัดจากถั่วเหลือง ซึ่งมีประโยชน์หลายประการขึ้นกับกรรมวิธีการเตรียม และสารอีกชนิด คือ Methylsilanol mannuronate ตัวนี้เป็นสารบำรุงตัวหนึ่งที่น่าสนใจ เลยจะขอเล่าให้ฟังเล็กน้อยนะคะ

เขาว่ากันว่าในผิวเราจะมีแร่ธาตุ Silicon ที่อยู่ในรูปแบบของ Silicium ทำหน้าที่เป็นตัวช่วยยึดเกาะและเชื่อมเอาเส้นใยโปรตีนต่างๆ ในผิวไว้ด้วยกัน เพื่อประโยชน์ในด้านความยืดหยุ่น กระชับ และการทำงานตามปกติของผิว

(Image from Exsymol S.A.M.)

ทีนี้เขาก็พบว่าเวลาคนเราอายุเพิ่มขึ้น เจ้า Organic silicium นี้ก็จะมีปริมาณลดลง ทางบริษัทผู้ผลิตวัตถุดิบเขาก็เลยสังเคราะห์สารกลุ่ม Silanol เพื่อหวังจะเอามาทดแทน Organic silicium ที่มันลดลงตามวัย แล้วนางก็ทำได้ค่ะ

นางทดสอบในระดับหลอดทดลอง พบว่าสารนี้มีประโยชน์ที่ดีในการเสริมการทำงานของผิว มีประโยชน์ในด้านของการกระชับ ยืดหยุ่น ต่อต้านอนุมูลอิสระ ต่อต้านกระบวนการ Glycation ที่เป็นการชรารูปแบบหนึ่งเกิดจากน้ำตาลไปเกาะกับโปรตีนแล้วทำให้โปรตีนเสื่อมสภาพไป การทดสอบในอาสาสมัครพบว่า สารนี้มีประโยชน์ในด้านของการเพิ่มความชุ่มชื้น ลดเลือนริ้วรอย แล้วก็บำรุงผิวให้แลดูกระชับ รู้สึกยืดหยุ่น

  • สีฟ้า เป็นกลุ่มของการเติมน้ำให้ผิว เพิ่มความชุ่มชื้น
  • สีเขียวมะกอก Squalane เป็นไขมันที่เป็นอนุพันธ์ของ Squalene ที่สร้างออกมาจากต่อมไขมัน ทำหน้าที่เคลือบปกป้องผิว ลดการระเหยน้ำออกจากผิว เมื่อเราอายุเพิ่มขึ้น ต่อมไขมันก็จะทำงานลดลง เลยส่งผลให้ผิวแห้งมากขึ้น การเสริมด้วย Moisturizer ก็เป็นทางหนึ่งที่ดูแลได้ ซึ่งตัว Squalane นี้ทางแบรนด์เคลมว่า เป็นเกรด Organic ที่แยกได้จากชานอ้อย
  • สีเขียวสด น้ำทะเล โปรวิตามินบี 5 (Panthenol) และ Dipotassium glycyrrhizate มีประโยชน์ในการให้ความรู้สึกสบายผิว ลดการระคายเคือง พร้อมกับสารอีกตัว คือ Hydroxyacetophenone ตัวนี้มีคุณสมบัติหลายประการ ทั้งปกป้องสารในตำรับ และมีคุณสมบัติในการบำรุงผิวในเชิง Antioxidant และการดูแลเรื่องการอักเสบระคายเคือง

ในภาพรวม Ampoule ตัวนี้มีสารบำรุงอยู่หลายชนิด ที่ให้ประโยชน์ในการดูแลผิวหลายประการ ดูแลผิวแบบครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นในด้านของการฟื้นฟู Barrier ผิว เติมน้ำ เพิ่มความชุ่มชื้น ดูแลเรื่องปัญหาการระคายเคือง ให้ความรู้สึกสบายผิว ปกป้องผิวจากมลภาวะ ชะลอวัย ปกป้อง และลดเลือนริ้วรอย

ในแง่ของส่วนผสมอื่นๆ ทางแบรนด์ก็เลือกมาได้ดีเช่นกัน เพราะไม่มีส่วนผสมของสารที่ไม่เป็นมิตรกับผิวอยู่เลย

ให้คะแนนกันดีกว่าค่ะ

  1. สารบำรุง ตามที่ได้กล่าวไปในด้านบนว่าใน Ampoule นี้มีสารบำรุงอยู่ครบถ้วน ให้ประโยชน์ต่อผิวหลายประการ จึงขอให้ไป 5 ฟลาสก์
  2. ส่วนผสมอื่นๆ ไม่มีส่วนผสมของสารที่ไม่เป็นมิตรกับผิว ให้ไป 5 ฟลาสก์
  3. การใช้งาน ส่วนตัวค่อนข้างชอบความรู้สึกของ Ampoule เมื่อเนื้อมันเริ่มแห้ง ผิวเราจะรู้สึกนุ่ม เรียบ โดยไม่เหนอะหนะหนักผิว ส่วนตัวมองว่าเนื้อโอเคมากสำหรับคนผิวแห้งในฤดูร้อนแบบนี้ คือ จะปกป้องผิวไม่ให้แห้งกร้าน แต่ก็ไม่แห้งตึงจนเกินไป และไม่หนักผิวจนเกินไป ส่วนเรื่องประสิทธิภาพ ให้ไป 5 ฟลาสก์ เช่นกัน

สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณทางแบรนด์ Her Hyness มากนะคะที่ส่งผลิตภัณฑ์ดีๆ มาให้มี่ได้รู้จักและทดลองใช้ และขอบคุณทุกท่านที่ติดตามมาจนจบค่ะ

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ทางแบรนด์โดยตรงเลยนะคะ

Facebook (Her Hyness)

IG @herhynessbeauty

Line @herhyness

Disclaimer/conflict of interests: ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับการสนับสนุนจากทางแบรนด์ Her Hyness การรีวิวครั้งนี้เป็นการวิเคราะห์ส่วนผสม/วัตถุดิบตามหลักการทางวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางและอาศัยความเห็นส่วนบุคคล และผู้เขียนไม่ได้มีผลประโยชน์ใดๆในการขายสินค้า โปรดใช้วิจารณญาณ

Image

[Beauty Talk] ผลกระทบของหน้ากากอนามัยต่อผิว และการดูแลผิวในช่วงที่ต้องใส่หน้ากากนานๆ

สวัสดีค่ะ วันนี้ขอมาเล่าและอัพเดทเรื่องของ ผลกระทบของหน้ากากอนามัย หรือ Mask ที่มีต่อผิวพรรณนะคะ

mask 1

ถามว่าเราต้องใส่ Mask ไหม ต้องใส่ค่ะ เพื่อปกป้องตัวเองจากไวรัสตัวร้าย

แน่นอนว่าถ้าเราใส่ Mask นานๆ Mask ก็ทำร้ายผิวเราได้หลายอย่างนะคะ โดยเฉพาะ Mask ที่มีความสามารถในการกรอง หรือการป้องกันผิวดีๆ มันก็จะยิ่งทำร้ายผิวเราได้มาก

ไม่น่าเชื่อว่า เคยมีคนสำรวจอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการใส่ Mask มาพักใหญ่ๆแล้วค่ะ มีขอยกตัวอย่างงานชิ้นหนึ่ง ของ Foo และคณะ เมื่อปี 2006 ช่วงนั้น SARS ระบาดพอดี นักวิจัยทีมนี้เขาสำรวจอาการไม่พึงประสงค์ของบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาล 322 คน ที่สิงคโปร์ ว่ามีอาการไม่พึงประสงค์อะไรบ้างหลังจากใส่ Mask N95 ถุงมือ และชุด PPE ไปนานๆ ซึ่งวันนี้เราขอ Focus ที่ Mask นะคะ

ปัญหาใหญ่ของบุคลากรเหล่านี้คือ เกือบ 60% พบว่า N95 ทำให้มีสิวขึ้น รองลงมาคือ ราวๆ 51% พบว่า ทำให้เกิดอาการคัน และ ราวๆ 36% ทำให้เป็นผื่นขึ้นค่ะ

อาการอื่นๆที่นักวิจัยพบในกลุ่มนี้เช่น ผิวแห้ง มีอาการแดง ระคายเคือง รูขุมขนกว้างขึ้น (อันนี้ดิฉันประสบอยู่) ผิวลอก น้ำมูกไหล และ มีรอยแผลเป็น/รอยแดงที่บริเวณจมูกจาก Mask ที่กดทับ

อาการเหล่านี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร

มีการคาดคะเนว่า อุปกรณ์พวกนี้มันทำให้การระเหยของเหงื่อ เกิดขึ้นได้น้อยลง ความชื้นเพิ่มขึ้น มีการสะสมตัวของความร้อนในบริเวณนั้น และก็เวลาที่เราพูด มันเกิดการเสียดสี ซึ่งปฏิกิริยาเหล่านี้มันจะไปทำให้ผิวหนังของเราเกิดการอักเสบขึ้นมาได้ มีชื่อเรียกโรคผิวหนังอักเสบที่เกิดจากการเสียดสี ความร้อน ความอับชื้น การระบายอากาศที่ไม่ดี และความชื้น ว่า intertrigo หรือ intertriginous dermatitis

mask 2

นอกจากนี้การใส่ Mask เป็นเวลานานๆยังเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อบนผิว และยิ่งในช่วงที่เราหา Mask ได้ค่อนข้างยาก เราก็อาจจะใส่ซ้ำ ซึ่งมันจะมีอาหาร เป็นพวกเศษผิว เหงื่อ ไขมัน ที่ติดออกมาจากผิวเราสะสมตัวอยู่บน Mask ทำให้เชื้อจุลินทรีย์ต่างๆโตขึ้น พอเอา Mask มาแปะหน้าก็เหมือนเอาจุลินทรีย์มาเพาะเลี้ยงในบรรยากาศที่อุ่น ชื้น และมีอาหารพร้อม เรียกได้ว่าเป็นสภาพที่สมบูรณ์แบบมากเลยค่ะ

N95 หรือ N99 ที่แนบสนิทกับผิวแน่นๆ จะไปกดทับบริเวณสันจมูก ซึ่งบริเวณนี้เป็นบริเวณที่ผิวค่อนข้างบาง ทำให้เกิดผิวหนังอักเสบจากการกดทับ อารมณ์คล้ายๆแผลกดทับ แต่ไม่ได้รุนแรงถึงขั้นนั้นค่ะ อันนี้มีชื่อเรียกว่า Pressure-induced dermatitis

อาการอื่นที่อาจพบได้จากการใส่ Mask คือ ปัญหารอยช้ำ และ จุดด่างดำค่ะ เพราะเมื่อมีการอักเสบก็จะไปเหนี่ยวนำให้เกิดการสร้างเม็ดสี Melanin เพิ่มขึ้น

การใส่ Mask ยังทำให้เกิดสภาวะเคลือบผิว หรือ Occlusive ซึ่งมีผลทำให้ความชื้นในผิวเพิ่มขึ้น และมีผลเพิ่มการดูดซึมของสารบางชนิดเข้าสู่ผิว ดังนั้นถ้าเราทาครีม หรือ แต่งหน้า ไว้ใต้แผ่น Mask ก็มีโอกาสที่สารเหล่านั้นจะซึมเข้าผิวได้มากขึ้น ทำให้เกิดการแพ้และระคายเคืองได้ง่ายขึ้นด้วย

Mask กระดาษ หรือ Mask ผ้าเองก็ทำให้เกิดสิว และผิวอักเสบต่างๆได้นะคะ

โดยความแรงของการ Occlusive ขึ้นกับชนิดของวัสดุที่เอามาทำ Mask ด้วยนะคะ ส่วนตัวคิดว่า ยิ่งวัสดุนั้นป้องกันผิวได้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่ง Occlusive มากเท่านั้น ลองหายใจผ่าน Mask ดูค่ะ ถ้าไม่มีไอน้ำอุ่นๆ หรือลมหายใจอุ่นๆของเราลอดออกมาจาก Mask คือ ก็ยิ่ง Occlusive มาก

ยิ่ง Occlusive มาก ก็ยิ่งทำร้ายผิวมากค่ะ

 

อีกจุดที่ควรระวังคือ ถ้ากรณีเราแพ้ยางยืด (พวก Latex) แพ้กาว แพ้สี (สีย้อมผ้าที่เอามาทำ Mask) ก็อาจจะต้องระวังค่ะ เพราะในการผลิตแผ่น Mask เหล่านี้ อาจจะมีสารที่ทำให้เราแพ้ได้ ดังนั้นถ้าแพ้ก็เลือกวัสดุที่เราใช้แล้วไม่แพ้นะคะ

mask 3

ขอปิดท้ายด้วยการดูแลผิวในช่วง COVID-19 ที่เราต้องใส่ Mask กันนานๆนะคะ

ส่วนตัวมีความเห็นดังนี้ค่ะ

  1. ควรใช้ Skincare หรือ ครีมที่ฟื้นฟู Barrier ผิว โดยให้ทาทั้งเช้าและเย็น เช่น ครีมที่มีส่วนผสมของพวก Ceramide หรือ น้ำตบที่มี NMF (Natural moisturizing factor) หรือสารที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้แก่ผิวชั้นนอก เช่นพวก Pre/Pro/Post biotic (อันนี้เดี๋ยวจะมาเล่าต่ออีกทีค่ะ) หรือ สารที่เพิ่มความแข็งแรงให้แก่ Cornified envelope ที่เป็นเปลือกโปรตีนหุ้มเซลล์ผิวเราไว้อีกที อย่างตอนนี้สกินแคร์จากญี่ปุ่นหลายชิ้น เริ่มเน้นการออกฤทธิ์ไปที่ Cornified envelope แล้วค่ะ
  2. ถ้าอยู่ในสถานที่ที่เป็นส่วนตัว ควรถอด Mask เพื่อระบายอากาศบ้าง
  3. ไม่ใส่ Mask ซ้ำ เกิน 1 – 2 วัน ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ เอาจริงหมดวันก็ทิ้งเถอะค่ะ
  4. การซัก Mask ผ้า ควรตรวจสอบให้เรียบร้อยว่า ซักสะอาด ไม่มีพวกผงซักฟอก หรือสารทำความสะอาดตกค้าง
  5. ก่อนนอน ให้ทำความสะอาดผิวด้วย Cleanser ที่เหมาะสม หรือ ใช้ Double clean technique
  6. อาจใช้ BHA/AHA เพื่อผลัดผิว ลดการอุดตันที่อาจเกิดขึ้น ลดโอกาสในการเกิดสิว
  7. บำรุงผิวด้วยผลิตภัณฑ์ตามข้อ 1 ก่อนนอน
  8. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ผัก ผลไม้ ที่มีสีสัน เขียว เหลือง แดง ส้ม ฯลฯ หรือเสริมวิตามิน/เครื่องสำอางที่เป็น Antioxidant

 

mask 4

©สงวนลิขสิทธิ์ทุกข้อความและภาพในบทความฉบับนี้ตามพรบ.ทรัพย์สินทางปัญญา

 

References

  1. Foo, et al. (2006) Contact dermatitis. 55:291-294.
  2. Stokowski, LA. (2020). A Step-by-Step Guide to Preventing PPE-Related Skin Damage. From https://www.medscape.com/viewarticle/929590
  3. Mann, D. (2020). Do these 5 things to protect your skin from the downsides of face masks, doctors say. From https://www.cnbc.com/2020/05/13/rash-irritation-downsides-face-masks-how-to-protect-skin-according-to-doctors.html

 

Image

Mini review/วิเคราะห์ส่วนผสม Clinique iD สูตร Tone-up gel คู่กับ Cartridge sallow skin (Cartridge โสม)

สวัสดีค่ะ

เมื่อก่อนที่ห้างจะปิดตัว มี่บังเอิญไปได้ตัวอย่าง Clinique iD สูตร Tone-up gel คู่กับ Cartridge sallow skin (Cartridge โสม) ตอนไปซื้อของที่เคาน์เตอร์มาค่ะ

แล้วก็เห็นมีทางลูกเพจถามมาถึงส่วนผสมสูตรนี้ ก็เลยเอามาวิเคราะห์ส่วนผสมให้ได้ชมกันนะคะ

ตัว Sample ของ Clinique iD เขาจะทำมาค่อนข้างน่ารักนะคะ คือมาในลักษณะคล้ายๆสมุดเล่มเล็กๆ ด้านหลังจะมี capsule อยู่ 2 ช่อง ช่องล่างเป็นตัว Cartridge และช่องบนเป็นเนื้อเบส

ซึ่งเวลาใช้งานเราจะกดไล่ให้เนื้อของ Cartridge ไปผสมกับเนื้อเบสด้านบน แล้วไล่ขึ้นไล่ลงให้เป็นเนื้อเดียวกัน ก่อนจะฉีกซองแล้วใช้ทาได้นะคะ

หน้าตาก็ประมาณนี้นะคะ

 

clinique

 

ส่วนตัวมี่ได้ลองใช้แล้ว แต่ไม่ได้ถ่ายไว้ น่าจะเหมาะกับคนที่มีผิวกลาง ผิวสองสี ถึงผิวสีเข้มมากกว่าคนที่มีผิวขาวและ undertone ซีดๆ แบบผิวมี่ ซึ่งส่วนตัวใช้แล้วจะติดหมองหน่อยๆ เพราะตัว tone-up เจลจะมี undertone เป็นสีชมพู ที่ไม่เหมาะกับผิวเราเท่าไหร่ (คหสต.)

สูตรนี้เท่าที่ลองหาอ่านดูจากรีวิวของท่านอื่นๆ เห็นว่าเป็นสูตรพิเศษที่ทำมาเพื่อชาวเอเชีย ที่สามารถใช้เบสที่มี undertone ชมพู (ส่วนใหญ่เจอกับรองพื้นเกาหลี) แล้วจะดูสว่าง Glow แลดูมีราศรีและสวยงามค่ะ

แต่ที่หยิบมารีวิววันนี้ เพราะส่วนตัวคิดว่า เบส Tone-up gel เป็นตัวเบสที่ทำมาได้สมบูรณ์แบบมาก ในแง่ของส่วนผสมค่ะ เสียดายน่าจะมีสีที่ไปในแนว undertone เหลืองบ้าง ซึ่งในฝั่งอเมริกา กับยุโรป จะมีเนื้อ BB ลายพรางอีกสูตรค่ะ

clin BB

(Image from Clinique)

 

ตัวนี้เท่าที่ลองอ่านรีวิว น่าจะมี undertone เหลือง เพราะเหมาะกับคนผิวขาว ถึงผิวกลางค่ะ แต่ยังไม่ได้ลองค้นส่วนผสมของตัวนี้นะคะ

 

ในซอง sample ที่ได้มาเขามีส่วนผสมมาให้ด้วย เลยเอามาวิเคราะห์ให้ได้ชมกันค่ะ

เริ่มจากเบสที่เป็น Tone-up gel ค่ะ

สผส toneup gel

ในภาพรวมคือเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบอิมัลชั่น ที่ประกอบด้วย น้ำ น้ำมันสังเคราะห์ และ silicone อยู่หลายชนิดนะคะ ซึ่งดูแล้วจะค่อนข้างเหมาะกับคนที่มีผิวมัน หรือ ผิวผสม เพราะตัวน้ำมันสังเคราะห์ Isododecane เวลาทา นางจะระเหยไปได้ ให้ความรู้สึกแห้ง และ matte ไม่เหนอะหนะ

ส่วนคนผิวผสม/แห้งแบบเราก็ยังพอใช้ได้อยู่ ไม่ได้แห้งอะไรมากนักค่ะ

นอกจากสารบำรุงต่างๆที่ใส่มาแล้ว อีกจุดที่น่าสนใจคือกลุ่มของพวก Pigment หรือเม็ดสี ซึ่งมีทั้ง Pigment ที่ช่วยอำพรางปกปิด และ Pigment ที่ให้ความ Glow มี่แทนด้วยสีส้มนะคะ สำหรับสีบางตัวไม่ได้เป็น Pigment ที่ช่วยกลบหรืออำพรางสีผิว ให้ดู Glow แต่เป็นสีที่เอามาแต่งเนื้อเบสให้มีสีออกชมพูสวยงาม

สำหรับสารบำรุงวันนี้มาในสีคล้ายๆกันค่ะ มี่จะหยิบยกมาบางตัวนะคะ

  • สีฟ้า คือ Trehalose กับ Sodium hyaluronate พวกนี้เป็นตัวเติมน้ำ เพิ่มความชุ่มชื้น
  • สีเขียวอ่อน คือเจ้า Lactobacillus ferment กับ Saccharomyces ferment extract ซึ่งพวกนี้มีเคลมเกี่ยวกับพวก Probiotic/Microbiome ซึ่งมีประโยชน์ในด้านของการฟื้นฟูผิว ช่วยคืนความสมดุลให้แก่ผิว และช่วยให้ผิวแข็งแรง
  • สีน้ำเงิน จะเป็นสารบำรุงต่างๆค่ะ ซึ่งตัวที่ใส่มาก็มีหลายชนิดอยู่เหมือนกัน มี่เอามากล่าวคร่าวๆนะคะ
    • Seedcake จากเมล็ดทานตะวัน จะเป็นกลุ่มของพวกโปรตีน อันนี้จะมีประโยชน์ในเชิงชุ่มชื้นเป็นหลัก
    • สารสกัดจากข้าวบาร์เลย์ มีประโยชน์ในเชิงชุ่มชื้น ลดการอักเสบระคายเคือง และให้ความรู้สึกสบายผิว
    • Caffeine ตัวนี้ก็เป็นตัว Top hit ในผลิตภัณฑ์กลุ่ม iD อีกตัวค่ะ ซึ่ง Caffeine แม้จะดูเป็นสารพื้นๆ แต่นางมีประโยชน์ค่อนข้างมากนะคะ มีรายงานการวิจัยกล่าวอยู่ว่า Caffeine ที่เรารู้จักกันในด้านของการลดการบวมน้ำ ยังมีประโยชน์ต่างๆอีก โดยมีคุณสมบัติเสริมการสลายไขมัน เป็น Antioxidant มีคุณสมบัติปกป้องผิวจากรังสี UV เสริมการไหลเวียนเลือดของผิว และยับยั้งเอนไซม์ 5alpha-reductase ซึ่งมีประโยชน์ในการควบคุมความมันให้แก่ผิว (Skin Pharmacol Physiol. 2013;26(1):8-14.)
    • Laminaria saccharina extract ตัวนี้พยายามลองค้นข้อมูลจากหลายๆแหล่ง แต่ไปเจอเป็นข้อมูลจากผู้ผลิตบอกว่าสารสกัดจากสาหร่ายนี้มีคุณสมบัติในด้านการชะลอวัย ต่อต้านอนุมูลอิสระ และให้ความรู้สึกสบายผิว (Soothing)
    • Polygonum cuspidatum คือ สารสกัดจาก Japanese knotweed มีรายงานสรุปว่าสารสกัดจากรากต้นนี้มีคุณสมบัติเป็นตัวลดการอักเสบระคายเคือง และมีประโยชน์ในการยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์บางชนิด (Evid Based Complement Alternat Med. 2013;2013:208349.)

 

ในภาพรวมก็ยังมาในแนวของการดูแลผิวที่เป็นผิวมัน หรือ ผิวผสม มากกว่าจะเน้นดูแลที่ผิวแห้งนะคะ

 

ทีนี้เรามาดูส่วนผสมของ Cartridge โสม หรือ Cartridge for sallow skin สีทองค่ะ

ตัวนี้เข้าใจว่าน่าจะเป็น Limited edition เพราะในเว็บของ US คือ out of stock ไปเรียบร้อย

ส่วนผสมเป็นดังนี้นะคะ

สผส cartridge โสม

ในภาพรวมคือนางมาในเบสแบบน้ำ ไม่มีน้ำมัน แอลกอฮอล์ และซิลิโคน

มีส่วนผสมของ AHA 2 ชนิด คือ Glycolic acid กับ Lactic acid ที่น่าจะใช้ Sodium hydroxide มาปรับ pH ให้อยู่ในค่าที่เหมาะสม เพื่อให้มีประโยชน์ในเชิงการผลัดผิว ดูแลปัญหาริ้วรอย รวมถึงรูขุมขนกว้าง (คหสต.)

นอกจาก AHA ที่เติมน้ำ กับผลัดผิวแล้ว ยังเสริมมาด้วย Caffeine (ที่มีแล้วในเบส) ร่วมกับ สารสกัดจากโสม เรียกได้ว่า โสมนี้มีประโยชน์กับผิวแบบรอบด้าน ครอบจักรวาล สยบทุกมิติของปัญหาผิวมาก

ต่อกันที่ สารสกัดจากเห็ด Poria ซึ่งข้อมูลของผู้ผลิตวัตถุดิบกล่าวไปในเชิงของการควบคุมความมัน กระชับรูขุมขน

ดังนั้นส่วนตัวมองว่า Cartridge นี้ทำมาได้ดีนะคะ เพียงแต่ว่า อาจจะไม่เหมาะใช้กลางวันเท่าไหร่ ถ้าเรามีความไวกับแสงแดดมากๆ อาจจะแพ้แสงแดดได้ค่ะ

แล้วการเอามาจับคู่กับตัวเบส Tone-up ที่เหมาะใช้กลางวัน มันอาจจะแลดูขัดๆกันนิดนึง (คหสต.) แต่ถ้าเราเอาไปจับคู่กับเบสตัวอื่น แล้วใช้กลางคืนคือน่าจะแจ่มอยู่ค่ะ

 

สำหรับวันนี้คงต้องขอตัวไปแค่นี้ พบกันใหม่โอกาสถัดไป สวัสดีค่ะ

Disclaimer/conflict of interests: ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับมาเป็นของแถมจากการซื้อสินค้าด้วยตนเอง การรีวิวครั้งนี้เป็นการวิเคราะห์ส่วนผสมตามหลักการทางวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางและอาศัยความเห็นส่วนบุคคล และผู้เขียนไม่ได้มีผลประโยชน์ใดๆในการขายสินค้า โปรดใช้วิจารณญาณ