Image

Basic CosSci: สีผิว และ การสร้างเม็ดสีผิวเบื้องต้น (Melanogenesis) (revised 2023)

เนื้อหา: วิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง, Dermatology ระดับความยาก: ปานกลาง

ผลิตภัณฑ์กลุ่ม Whitening นี้เรียกได้ว่าติดกระแสตลาดในบ้านเราและในกลุ่มประเทศทางเอเชียมาก เพราะผู้บริโภคบ้านเรานั้นคิดว่าปัญหาเรื่องสีผิวมีความสำคัญสุดในทาง Skincare ทำให้มีผลิตภัณฑ์ Whitening ออกมากมายในตลาด และแนวโน้มของ Whitening นั้นจะสลับซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ และมีการออกฤทธิ์ที่พิสดารพันลึกขึ้นเรื่อยๆ

แต่สิ่งสำคัญที่เราต้องรู้เลย คือ “Whitening ไม่สามารถเปลี่ยนสีผิวให้แตกต่างไปจากสีผิวที่เรามีตอนเกิดมาได้” หรือ พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าเราใช้ Whitening นางก็จะออกฤทธิ์ได้ Maximum สุดได้เท่ากับบริเวณที่ขาวที่สุดของเราเท่านั้น

แต่ช่วงหลังๆ มานี้ เริ่มมีดราม่าเกี่ยวกับเรื่องของการเหยียดสีผิว เหยียดเชื้อชาติ เลยทำให้ผลิตภัณฑ์กลุ่ม Whitening ในหลายๆ แห่ง ต้องปรับตัวหนักมาก ซึ่งจุดนี้เราก็คงต้องรอดูกันต่อไปว่า ตลาดกลุ่มนี้จะไปต่ออย่างไร

ก่อนจะไปดูเรื่องการสร้างเม็ดสีผิว อยากขอพูดถึงเรื่องของ Skin complexion ก่อนค่ะ 

Skin complexion เป็นคำโบราณ ที่มีใช้กันมานานแล้ว เพียงแต่เริ่มมาป๊อปในช่วงหลังๆนี้เอง คำนี้จริงๆ ส่วนตัวมองว่าแปลค่อนข้างยากนะคะ โดยรวมมันจะหมายถึง ลักษณะต่างๆโดยรวมที่ปรากฏออกมาให้เรามองเห็น ไม่ว่าจะเป็นสีผิว ความสม่ำเสมอของสีผิว undertone ความอมชมพู ตำหนิ และจุดด่างดำต่างๆ รวมกัน และบางที่ก็นับรวมเอาริ้วรอยเข้าไปด้วยค่ะ

สำหรับสีผิวที่เรามองเห็นนั้นเกิดจากสีของสารต่างๆ หลายชนิดรวมกัน ได้แก่

  1. Melanin เป็นเม็ดสีที่เป็นเหมือนพระเอก มีสีน้ำตาล ไปจนถึงดำ
  2. Oxyhemoglobin เป็น Pigment ที่อยู่กับเม็ดเลือดแดงในเส้นเลือดฝอย มีสีแดง
  3. Deoxy-hemoglobin เป็น Pigment ที่อยู่ในหลอดเลือดดำ มีสีน้ำเงิน
  4. Bilirubin เกิดจากเม็ดเลือดแดงที่หมดอายุ มีสีเหลืองไปจนถึงน้ำตาล
  5. Carotenoid ได้จากอาหารที่เรารับประทาน มีสีเหลืองอมส้ม

ผิวที่มีสุขภาพดีมักจะมี Complexion เป็นสีพีช หรือ สีชมพู ส่วนผิวที่เริ่มมีการ Aging (ไม่แปลนะคะ คำแปลมันทำร้ายจิตใจเหลือเกิน) มักจะมีสี Complexion เป็นสีเทา

เม็ดสี Carotenoid ที่ได้จากอาหารนั้นสามารถสะสมที่ผิวได้ สามารถทำหน้าที่เป็นสารปกป้องผิวจากรังสี UV ในแสงแดด จึงมีผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเอาจุดนี้มา Claim เป็นอาหารเสริมที่กินแล้วกันแดดได้ และดังอยู่ในตลาดพักใหญ่ๆ เลย

คนที่ชอบทานผักผลไม้สีเหลืองเขียวมากๆ เช่น ฟักทอง แครอท ผิวของคนพวกนี้ก็จะออกเหลือง การสะสมของ Carotenoid บนผิวนั้นไม่ได้มีอันตรายอะไร และจะค่อยๆ จางไปเมื่อเราลดการทานผักผลไม้เหล่านี้ลง

การสร้าง Melanin ของชั้นหนังกำพร้า

Melanin นั้นจัดเป็นเม็ดสีที่สำคัญที่สุด มีประโยชน์หลายๆ ด้าน เช่น เป็นตัวปกป้องผิวหนังไม่ให้ได้รับอัตรายจากรังสี UV โดยเป็นตัว Antioxidant ช่วยลดผลเสียของรังสี UV ต่อผิว ปกป้ององค์ประกอบต่างๆ ผิวไว้ไม่ให้โดนทำลายเพราะรังสี UV ซึ่งจุดนี้สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งผิวหนังได้

โดยการสร้าง Melanin ในผิวนั้นเกิดจากกรดอะมิโนที่ชื่อ ไทโรซีน (Tyrosine) ผ่านการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase) ปฏิกิริยาการสร้างเมลานินมีด้วยกันหลายขั้นตอน จนในที่สุดจะได้เมลานินออกมา เมลานินที่ผิวสร้างมี 2 ชนิด คือ ชนิดสีอ่อน (Pheomelanin) และชนิดสีเข้ม (Eumelanin) สัดส่วนของเมลานินทั้งสองชนิด ร่วมกับ Pigment อื่นๆ จะเกิดเป็น Complexion ของสีผิวแต่ละคนขึ้นมา

ตัวที่กำหนดว่าเมลานินที่สร้างได้จะเป็นชนิดสีอ่อนหรือชนิดสีเข้มนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณของกรดอะมิโน Cysteine ในผิว ถ้ามี Cysteine มาก ก็จะเกิดเป็นเมลานินสีอ่อนมากขึ้น ดังรูป

ดังนั้นการได้รับ Cysteine หรือ Glutathione ซึ่งมี Cysteine เป็นองค์ประกอบก็จะช่วยให้สีผิวอ่อนลงได้ เพราะผิวเอาไปสร้างเมลานินชนิดสีอ่อนมากขึ้นนั่นเอง

ตรงนี้ตอบโจทย์ว่าทำไม Glutathione ทำให้ผิวขาวได้

เมลานินที่เซลล์สร้างได้จะเก็บรวมๆ กันไว้ในถุงที่ชื่อ Melanosome ก่อนเคลื่อนย้ายออกมาภายนอกและมองเห็นเป็นสีผิว กลไกที่ถุง Melanosome นี้ออกมาข้างนอกเรียกว่า Melanin transfer หรือ Melanosome transfer กระบวนการที่แท้จริงนั้นนักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่าเกี่ยวข้องกับเอนไซม์ Protease บางชนิด เช่น PAR-2 receptor เพราะว่ากลไกนี้สามารถยับยั้งได้ด้วยสารที่ยับยั้งเอนไซม์ Protease (Protease inhibitor) ที่พบในถั่วเหลือง (ถั่วเหลืองดิบปกติมีเอนไซม์ที่เป็นตัวยับยั้งเอนไซม์ย่อยโปรตีนอยู่ โปรตีนก็จะไม่โดนย่อย เวลาเรากินถั่วเหลืองที่ไม่สุกดีในปริมาณมากๆ จะปวดมวนท้องเพราะโปรตีนไม่โดยย่อย)

กระบวนการสร้างเมลานินถูกควบคุมโดยปัจจัยมากมาย เช่น ฮอร์โมน ความเครียด อนุมูลอิสระ การอักเสบ และรังสี UV เป็นต้น

สำหรับฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่สำคัญต่อการสร้างเมลานินก็คือ alpha-MSH (Melanocyte stimulating hormone) เป็นฮอร์โมนที่ไปกระตุ้นให้เซลล์ Melanocyte ทำงานได้ดีขึ้น จึงสร้างเมลานินออกมาได้มากขึ้น

ความเครียดและอนุมูลอิสระก็เป็นอีกสาเหตุหนีงที่กระตุ้นให้เกิดการสร้าง Melanin ออกมามากขึ้น โดยเป็นกลไกในการปกป้องตัวเองของผิว เพราะ Melanin สามารถไปกำจัดอนุมูลอิสระเหล่านี้ได้ บ่อยครั้งที่สารต้านอนุมูลอิสระ หรือ Antioxidant สามารถให้ผลเป็น Whitening ได้อย่างอ้อมๆ

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การสร้างเมลานินเกิดได้มากขึ้นก็คือการอักเสบ เมื่อเกิดการอักเสบขึ้นในผิวหนัง เช่น จากสิว หรือจากบาดแผล ก็จะไปกระตุ้นให้เซลล์ Melanocyte บริเวณที่อักเสบทำงานหนักขึ้นเกิดการสร้างเม็ดสีออกมามากขึ้น จนในที่สุดบริเวณที่อักเสบนั้นก็มีสีเข้มขึ้นเห็นเป็นรอยดำจากสิว หรือรอยดำบนแผลเป็นนั่นเอง

สำหรับรังสี UV นั้นเมื่อเราออกแดด รังสี UV ในแสงแดดออกฤทธิ์ได้ 2 อย่าง อย่างแรกเป็นผลฉับพลันเกิดโดยรังสี UVA ไป Oxidise Melanin ให้มีสีเข้มขึ้นซึ่งผลนี้จะเกิดไวมาก และคงอยู่ประมาณ 6 – 8 ชั่วโมง อีกอย่าง คือ รังสี UV ทั้งสองชนิดเป็นตัวกระตุ้นให้มีการสร้างฮอร์โมน alpha-MSH ออกมามากขึ้น ส่งผลให้เมลานินถูกสร้างออกมามากขึ้น ผลนี้ใช้เวลา 2 – 3 วันและคงอยู่ได้ถึง 2 สัปดาห์ นอกจากนี้รังสี UV ยังไปทำให้เกิดอนุมูลอิสระที่ไปกระตุ้นเซลล์ Melanocyte ต่อ จึงควรทากันแดดเพื่อปกป้องไม่ให้รังสี UV เข้าสู่ผิวมากเกินไป

ถ้าเราสรุปกลไกการสร้างเม็ดสีของผิว ก็พอจะสรุปได้ตามรูปค่ะ

Disclaimer: non-sponsored, education content