Image

รีวิวเซรั่มฟื้นฟู Barrier ที่เนื้อบางเบาอย่างไม่น่าเชื่อ กับ Brikk 6 in 1 daily skin barrier treatment essence จาก The labatorian

สำหรับ Content นี้จะมาเล่าถึงเซรั่มที่น่าสนใจ ซึ่งทางแบรนด์ออกแบบมาเพื่อฟื้นฟู Barrier ผิวในทุกมิติ จากแบรนด์ The Labatorian ซึ่งทางเพจเราได้นำเสนอบทวิเคราะห์ส่วนผสมของผลิตภัณฑ์หลายๆ ชิ้นไปก่อนหน้านี้ค่ะ

วันนี้จะมาวิเคราะห์เซรั่มน้องใหม่ของทางแบรนด์ ที่พึ่งเปิดตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ค่ะ

เซรั่มน้องใหม่นี้มีชื่อว่า Brikk ซึ่งว่ากันว่ากว่าทางแบรนด์จะได้สูตรนี้มานั้นผ่านการปรับสูตรมามากกว่า 50 สูตรเลยทีเดียวจนกว่าจะได้สูตรที่ดีงามขนาดนี้

น้องใหม่ Brikk มีหน้าตาประมาณนี้นะคะ

ตัวแพคเกจนั้นมาในขวดแก้วที่ด้านในเป็นฝาปั๊มค่ะ

เนื้อเซรั่มเป็นเนื้อแบบใส จะได้กลิ่นหอมของกุหลาบจางๆ ซึ่งมาจาก Rose water ที่ทางแบรนด์เลือกใช้ นอกจากจะให้ความรู้สึกสบายผิว (Soothing effect) แล้วก็ยังได้กลิ่นหอมด้วย

เกลี่ยได้ค่อนข้างง่าย แรกๆ จะให้สัมผัสลื่นๆ ผิว แต่เมื่อทิ้งไว้สักพัก ไม่ถึง 1 นาที ตัวเซรั่มจะซึม/แห้งไป ให้ความรู้สึกนุ่มนวล ชุ่มชื้น และไม่เหนียวเหนอะหนะ

ค่า pH นั้นอยู่ที่ประมาณ 5 นะคะ ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับค่า pH ของผิว

รายการส่วนผสมนั้นเรียกได้ว่าจัดเต็มคาราเบลมาเกินเบอร์เกินหน้าเกินตาความเป็นเซรั่มใสมาก

ก่อนจะไปดูที่ส่วนผสม เรามาลอง Revised trend ใหม่ล่าสุดของ Barrier ผิวกันค่ะ

ในสมัยก่อนเรากล่าวกันว่า Barrier ผิวประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ

  1. ไขมันที่อยู่ระหว่างเซลล์ Corneocytes (เซลล์ในชั้น Stratum corneum)
  2. Natural moisturizing factor (NMF)
  3. ตัวเซลล์ Corneocyte เองที่เรียงตัวแบบคดเคี้ยว และในเซลล์มีโปรตีน Keratin ที่อัดกันแน่น ทำหน้าที่ปกป้อง Lipid barrier อีกชั้นหนึ่ง ตัวเซลล์ Corneocyte เอง จะมีเปลือกที่เป็นโปรตีนเชิงซ้อน ที่เรียกว่า Cornified envelope หรือ Corneocyte envelope เคลือบอยู่อีกชั้น เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้อีกชั้นหนึ่ง

เราเรียกโมเดลที่แสดงถึงสิ่ง 3 สิ่งนี้ว่า Brick-wall model ตามภาพค่ะ

ทีนี้ถ้าเราย้อนกลับไป เราแบ่ง Barrier ของผิวออกเป็นกลุ่มๆ ค่ะ

  1. Physical barrier คือ ตัวผิวเอง โครงสร้างที่สมบูรณ์ของผิวหนังเป็นตัวปกป้องไม่ให้ของดีๆ ภายในออกไปข้างนอก และป้องกันไม่ให้อันตรายจากภายนอกเข้ามาข้างใน
  2. Chemical barrier คือ พวกสารเคมีต่างๆ ที่ผิวเราสร้างขึ้นมา การรักษาสภาวะ pH ให้เป็นกรดอ่อนๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อก่อโรคโตได้ บางที่อาจจะนับรวม Biochemical barrier เข้ามาไว้ด้วย คือพวก Antimicrobial peptide ที่ผิวเราสร้างขึ้นมาระงับเชื้อก่อโรคต่างๆ ตัวที่ดังๆ ก็เช่น Defensin
  3. Immunological barrier คือ ระบบภูมิคุ้มกันของผิวเรานั่นเอง ที่คอยปกป้องผิวจากทั้งสารเคมี และพวกจุลินทรีย์ต่างๆ
  4. และล่าสุด เราเริ่มมีการพูดถึง Microbiological barrier คือ พวกจุลินทรีย์หลากหลายชนิด และเจ้าแมลง Dermodex ที่อาศัยกันเป็นชุมชน Microbiome น้องมีปฏิกิริยากับผิวเราทำให้ Immune ของผิวเราทำงานอยู่ตลอดเวลา เป็นเหมือนการซ้อมรบ และเป็นเหมือนการกระตุ้นให้ผิวเราสร้างสารต่างๆ ออกมา เพื่อทำหน้าที่ในชีวิตประจำวัน

เจ้า Microbiological barrier นี่แหละ ที่เป็นที่มาของเทรนด์การเลือกใช้ Pre-pro-post biotics ในทางเครื่องสำอางเพื่อสุขภาพที่ดี เพราะถ้า Microbiome ของเราอยู่ในสภาวะสมดุลดี ผิวเราก็จะสมดุลดีไปด้วย

โดยตัว Brikk นั้นเคลมว่าเป็น 6 in 1 Daily ที่ดูแลผิวเสมือนรวมเอาเซรั่ม 6 ขวดเข้าไว้ด้วยกัน ดังนี้

  • Antioxidant ด้วยส่วนผสมของ Antioxidant ชั้นเลิศอย่าง Resveratrol กับ Ferulic acid
  • Anti-pollution ตัวที่น่าสนใจก็คือ Ectoine กับพวกสารที่ฟื้นฟู Barrier ผิวให้แข็งแรง
  • Microbiome ดูแลด้วย Prebiotics
  • Lipid & NMF ฟื้นฟู Barrier ผิวให้แข็งแรง
  • Soothing ให้ความรู้สึกสบายผิว
  • Hydration เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวอย่างยาวนาน

เราลองมาดูส่วนผสมของ Brikk กันนะคะว่าดูแล Barrier ผิวได้ในทุกมิติ และเป็นเซรั่ม 6 ขวดในขวดเดียวกันได้ อย่างไร

ส่วนผสมเป็นดังนี้ค่ะ

สำหรับส่วนผสมของ Brikk นั้นมีใช้หลายสีเพื่อแบ่งกลุ่มนะคะ เรามาลองดูตัวที่น่าสนใจกันค่ะ

  • กลุ่ม Microbiome ใช้แทนด้วยสีเขียวมะกอก
    • ในกลุ่มนี้ประกอบด้วย Prebiotic 2 ชนิด ได้แก่ Inulin และ Beta-glucan และ Post-biotic อย่าง Lactococcus ferment lysate
    • Inulin เป็น Polysaccharide ที่พบได้ในพืชหลายชนิด เช่น Chicory, artichoke ซึ่งจัดเป็น Prebiotic ชนิดหนึ่ง น้องเป็นอาหารของจุลินทรีย์ชนิดดีที่เรียกกันว่า Probiotic ในทางเครื่องสำอางมีการใช้ Inulin เพื่อเป็น Moisturizer โดยข้อมูลจากผู้ผลิตวัตถุดิบกล่าวว่า Inulin มีความสามารถในการเป็น Moisturizer ที่ดีกว่า Hyaluronic acid (Ref: TDS preBIULIN AGA)
    • Beta-glucan เป็น Polysaccharide ที่พบได้ในสิ่งมีชีวิตหลายชนิด และในพืชบางชนิด เช่น Oat ซึ่งนอกจากความสามารถในการเป็น Prebiotic แล้ว ยังมีประโยชน์ในด้านการเป็น Moisturizer และให้ความรู้สึกสบายผิว (Soothing effect
    • Lactococcus ferment lysate เป็นกลุ่มสารที่ได้จากการย่อยระบบที่เลี้ยงจุลินทรีย์ Probiotic อย่าง Lactoccus เราเลยเรียกว่า Postbiotic ข้อมูลจากวัตถุดิบ ProRenew Complex CLR™ กล่าวว่าใช้จุลินทรีย์สายพันธุ์ Lactococcus lactis ซึ่งมีรายงานงานวิจัยสนับสนุนถึงประโยชน์ที่ดีหลายชนิด เช่น คุณสมบัติในการลดการอักเสบของผิวในผิวหนังเพาะเลี้ยง (Lett Appl Microbiol. 2019;68(6):530-536.) เสริมการทำงานของ Barrier ผิวผ่าน Antimicrobial peptide ที่ชื่อ Defensin ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องผิวตามธรรมชาติ และเสริมการสร้าง Filaggrin ซึ่งเป็นโปรตีนที่สำคัญตัวหนึ่งของผิว ไม่ว่าจะเป็น เป็นสารตั้งต้นของ NMF และ เป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่งของ Cornified envelope ที่ให้ Corneocyte แข็งแรง ปกป้องผิวเราจากอันตรายต่างๆ ในสิ่งแวดล้อม ผลทั้งสองอย่างทดสอบในผิวหนังเพาะเลี้ยง และมีการทดสอบในอาสาสมัครโดยให้ทาตำรับที่มี Lactococcus วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 30 วัน พบว่าผิวหนังของอาสาสมัครมี Barrier ที่แข็งแรงขึ้น วัดจากค่าการระเหยของน้ำจากผิว (Trans-epidermal water loss; TEWL) ที่ลดลง และช่วยปรับสมดุลค่า pH ของผิว (Skin Pharmacol Physiol. 2019;32(2):72-80.)
  • สีบานเย็น เป็นพวกสารที่เสริมคุณสมบัติการเป็น Barrier ของผิว อย่างพวก Ceramide, Cholesterol และ Sphingoid base ที่เป็นโครงสร้างสำคัญของ Ceramide อย่าง Phytoshingosine
  • สีฟ้า เป็นกลุ่มของสารที่เติมน้ำและเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว ซึ่งมีด้วยกันหลายตัว เช่น
    • Ectoine เป็นกรดอะมิโนชนิดพิเศษที่มีโครงสร้างเป็นวงกลม สร้างโดยแบคทีเรียบางสายพันธ์ที่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่ค่อนข้างโหดร้าย (Extremophile) ทำหน้าที่ปกป้องตัวเขาเองจากอันตรายภายนอก ไม่ว่าจะเป็นทั้งจากปัจจัยกายภาพและเคมี มีการพบว่าตัว Ectoine จะทำหน้าที่ดึงเอาน้ำมาเกาะไว้กับตัวเองแล้วกลายเป็นชั้นโครงสร้างที่ช่วยปกป้องโปรตีนองค์ประกอบต่างๆ ที่สำคัญของเซลล์เอาไว้ เรียกว่าเป็น Ectoine hydrocomplex (Clin Dermatol. 2008;26(4):326–633.) เจ้า Hydrocomplex ดังกล่าวส่งผลดีถึงองค์ประกอบทั้งเซลล์ คือปกป้องเซลล์นั้นให้มีปริมาณน้ำเหมาะสม และทำงานได้ตามปกติ แต่เมื่อปริมาณน้ำต่ำลง จะไปมีผลต่อระบบของการอักเสบทำให้เกิดอาการต่างๆ ตามมา ในกรณีของผิวหนัง การมี Ectoine จะช่วยให้ Lipid barrier ของผิวทำงานได้ตามปกติและมีความแข็งแรง ผิวจึงแข็งแรง และเก็บกักน้ำได้ดี (มีการระเหยของน้ำออกจากผิว/Transepidermal water loss; TEWL น้อย) (Biophys Chem. 2010;150(1–3):37–46.) มีการทดสอบประสิทธิภาพในทางผิวหนังอยู่หลายชิ้น ซึ่งได้กล่าวถึงในบทความวิชาการล่าสุดของ Kauth และ Truvosa (Dermatology and Therapy. 2022;12:295–313) ในภาพรวมคือ Ectoine ให้ประโยชน์ในการปกป้องผิวให้แข็งแรง ลดการระเหยของน้ำออกจากผิว ลดการอักเสบระคายเคือง รวมทั้งดูแลปัญหาผิวอักเสบและระคายเคืองต่างๆ (Skin Pharmacol Physiol. 2004; 17(5):232-7.) ยังมีการทดสอบพบว่า Ectoine ให้ประโยชน์เป็น Whitening ได้อีก โดยไป block ผลจาก MSH ไม่ให้กระตุ้นให้เกิดการสร้าง Melanin ออกมาเมื่อเจอรังสี UV (Antioxidants (Basel). 2020;9(1):63.)
    • Polyquaternium-51 ตัวนี้เป็น Polymer สังเคราะห์ที่มีโครงสร้างคล้ายกับไขมัน Phospholipid บนผิวของเรา ว่ากันว่านางจะเคลือบผิวและเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว ข้อมูลจากผู้ผลิตวัตถุดิบกล่าวว่าประสิทธิภาพในการเพิ่มความชุ่มชื้นของนางดีกว่า Hyaluronic acid
    • Saccharide isomerate ที่เด่นเรื่องการจับน้ำให้ผิวได้อย่างยาวนาน เพราะน้องสามารถเกาะติดบนผิวได้ดีและอยู่บนผิวได้นาน ถ้าเราไม่ล้างออกไป
    • Betaine ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของกรดอะมิโน Glycine ที่นอกจากจะเพิ่มความชุ่มชื้น ยังดูแลเรื่องการระคายเคืองผิว และปรับ Feeling ของสูตรให้ไม่เหนอะหนะไปพร้อมๆ กัน
    • กรดอะมิโน และสารอื่นที่จัดเป็น Natural moisturizing factor หรือ NMF มีคุณสมบัติในการจับน้ำให้แก่ผิว
  • สีเขียว คู่หูคู่ขวัญ Niacinamide (B3) + N-acetyl-D-glucosamine (NAG) เราคงไม่กล่าวถึงประโยชน์ของ B3 และ NAG แบบแยกกัน เพราะทั้ง 2 ตัวก็มีประโยชน์กับผิวมากโขอยู่ สำหรับการใช้ร่วมกันนั้นมีการศึกษาที่น่าสนใจโดย Kimball และคณะเมื่อปี 2010 ให้อาสาสมัครทาครีมที่มีส่วนผสมของ Niacinamide 4% + NAG 2% ในอาสาสมัครจำนวน 101 คน เป็นเวลา 10 สัปดาห์ เทียบกับครีมเปล่าที่ไม่มี B3+NAG พบว่ากลุ่มที่ได้รับครีม B3+NAG มีสีผิวที่สม่ำเสมอขึ้น จุดด่างดำต่างๆ แลดูจางลง (Br J Dermatol. 2010;162(2):435-41.)
  • สีน้ำเงิน สารบำรุงอื่นๆ ยกตัวอย่างบางตัวที่น่าสนใจ เช่น
    • Syn-Hycan (Tetradecyl Aminobutyroylvalylaminobutyric Urea Trifluoroacetate) สารชื่อยาวๆ นี้เป็นเปปไทด์สังเคราะห์ เทคโนโลยีสิทธิบัตร ซึ่งทางผู้ผลิตวัตถุดิบเคลมว่า มีคุณสมบัติในการเสริมการทำงานของ TGF-Beta ที่มีตามธรรมชาติของผิว ซึ่งส่งผลต่อไปให้มีการสังเคราะห์กลุ่มสาร Matrix จำพวก Hyaluron, Lumican และ Decorin ซึ่งมีคุณสมบัติให้ผิวกระชับ ยืดหยุ่น และมีความแข็งแรง รวมทั้งช่วยเสริมการเรียงตัวของคอลลาเจนเดิมในผิวให้อยู่ในโครงร่างที่แข็งแรง (ปกติเวลาเราอายุเพิ่มขึ้นสายเส้นใยของคอลลาเจนจะฉีกขาดไปตามกาลเวลา และมีการเรียงตัวที่ไม่สวยงามไม่เป็นระเบียบแบบเดิม ผิวเลยหย่อนคล้อย ไม่กระชับ)
    • สูตรผสมของ Water (and) Butylene Glycol (and) PEG-60 Almond Glycerides (and) Caprylyl Glycol (and) Glycerin (and) Carbomer (and) Nordihydroguaiaretic Acid (and) Oleanolic Acid รู้จักกันในนาม AC.NetTM จาก Croda ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่เบลนด์กันมาอย่างลงตัวเพื่อดูแลปัญหาสิว ผิวมัน และรูขุมขนกว้าง ข้อมูลจากผู้ผลิตวัตถุดิบยังระบุว่า สารชุดนี้ยังยับยั้งการเจริญของพวก C. acnes ที่ก่อสิว และ P. ovale ที่ก่อปัญหาผิวหลายประการ เช่น รูขุมขนอักเสบ
    • Ferulic acid กับ Resveratrol เป็น Antioxidant ที่น่าสนใจ
  • สีส้ม Hyaluron มากมายหลายรูปแบบ ที่มีประโยชน์ในการเติมน้ำให้กับผิวในหลายๆ ระดับ
  • สีชมพู กลุ่มสารที่ดูแลด้านการระคายเคืองผิว ให้ความรู้สึกสบายผิว (Soothing effect)

ในภาพรวมส่วนผสมของสารบำรุงที่ใส่ลงมาทำงานเสริมกันอย่างลงตัวทั้งในด้านการฟื้นฟู Barrier ผิว ไม่ว่าจะเป็นส่วนของไขมัน ส่วนของโปรตีน Filaggrin พวก NMF และยังดูแลเรื่อง Microbiome รวมทั้งเติมน้ำ ฟื้นฟู ดูแลปัญหาผิวมัน สิว รูขุมขนกว้าง ดูแลเรื่องการอักเสบระคายเคือง และให้ความรู้สึกสบายผิว (Soothing effect) ไปพร้อมๆ กัน สมกับที่เคลมว่าเป็น 6 in 1 Daily จริงๆ

มาให้คะแนนกันดีกว่านะคะ

  1. สารบำรุง หรือ Actives ก็ตามที่ได้เกริ่นไปในด้านบน คือ คุณเขาจัดมาเต็มมาก เอาไปเถอะ 5 ฟลาสก์
  2. ส่วนผสมอื่นๆ ไม่มีสารที่ไม่เป็นมิตรกับผิวอยู่เลย จึงไม่มีที่ให้หักคะแนน รับไป 5 ฟลาสก์
  3. การใช้งาน ก่อนอื่นต้องบอกเลยว่า ผลิตภัณฑ์เสริม Barrier ส่วนใหญ่เนื้อจะค่อนข้างหนัก แต่น้อง Brikk นั้นทำมาได้ดีมาก บางเบา ไม่เหนียวเหนอะหนะ คนที่มีผิวมันน่าจะชอบ ส่วนคนที่มีผิวแห้ง หรือผสม/แห้ง อาจจะต้องหาครีมมาทับอีกชั้นหนึ่งถึงจะเลิศเลอขั้นสูงสุด หลังจากที่ได้ลองใช้มาเกือบเดือนส่วนตัวคิดว่าน้องทำมาได้ดีจริงๆ ผลไม่ได้หวือหวาแบบค่ำคืนเดียวปิ๊ง แต่มันจะค่อยๆ รู้สึกไปเอง แบบใช้มาสักพัก เอ๊ะ ทำไมวันนี้หน้านุ่ม มันจะเป็นฟีลแบบอยู่ดีๆ รู้สึกตัวอีกทีก็ผิวดีอะไรแบบนี้ ให้ไป 5 ฟลาสก์

สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณทางแบรนด์ The labatorian ด้วยนะคะ ที่ส่งผลิตภัณฑ์ดีๆ มาให้มี่ได้รู้จัก และขอบคุณทุกท่านด้วยนะคะ ที่ติดตามรับชมมาจนจบ

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่

IG : the_labatorian

Line official : @labatorian

Facebook : Labatorian

Disclaimer/conflict of interests: ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับการสนับสนุนจากทางแบรนด์ The labatorian การรีวิวครั้งนี้เป็นการวิเคราะห์ส่วนผสม/วัตถุดิบตามหลักการทางวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางและอาศัยความเห็นส่วนบุคคล และผู้เขียนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวกับบริษัทเครื่องสำอางใดๆ โปรดใช้วิจารณญาณ