สวัสดีค่ะ วันนี้ขอมาอัพเดท รีวิว และวิเคราะห์ส่วนผสมเซรั่มในไลน์ใหม่ของทางแบรนด์ dermArtlogy ของบริษัท Neopharm ประเทศเกาหลีกันนะคะ
เรียกได้ว่าเซรั่มของแบรนด์ dermArtlogy นั้น มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดและทันสมัย
ล่าสุดทางแบรนด์ก็ได้พัฒนาสูตรใหม่ ATG rejuvenating serum ออกมาสำเร็จ จนกลายเป็นเซรั่มตัว Top สุด และได้วางจำหน่ายในบ้านเราเมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา
สำหรับท่านที่สนใจรายละเอียดของแบรนด์และเซรั่มสูตร Ageless potent rejuvenating serum สูตรก่อนหน้า และสูตร Gel สามารถติดตามได้ที่ Link ด้านล่างนี้ค่ะ
ช่องทางตามไปอ่าน Ageless potent rejuvenating serum https://miyeonthereviewer.com/2020/10/09/dermatlogy-agelesspotent/
ช่องทางตามไปอ่าน Link Gel moisturizerhttps://miyeonthereviewer.com/2021/01/25/dermartlogy-gelmoist/
สำหรับสูตร Top สุด ณ ขณะนี้ คือตัว ATG ที่จะมาเล่าให้ฟังในวันนี้มีหน้าตาประมาณนี้ค่ะ

น้องมาในดีไซน์ที่เป็น Signature ของทางแบรนด์ โดยรุ่นนี้จะเป็นขวดปั๊มแบบสุญญากาศ Airless pump ค่ะ
เนื้อเซรั่มเป็นประมาณนี้นะคะ มาในรูปแบบ Translucent กึ่งใสกึ่งขุ่น แสงยังผ่านได้

เช่นเคย เนื่องจากไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม เราเลยจะยังได้กลิ่นของวัตถุดิบอยู่จางๆ เนื้อรุ่นนี้เกลี่ยได้ง่าย ให้ความรู้สึกชุ่มชื้น เบา สบายผิว ไม่เหนอะหนะ และไม่แห้งจนเกินไป

ตัวนี้ส่วนตัวมี่โอกาสได้ทดลองใช้ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ยังไม่ออกสู่ท้องตลาดจนปัจจุบันก็ปาเข้าไปน่าจะครึ่งปีได้
ช่วง 2 เดือนแรก จะทาเฉพาะบริเวณใบหน้าด้านซ้ายที่ไม่ได้ใช้พวก retinoid ในด้านของความสบายผิว ความชุ่มชื้น ความแดงที่เป็น undertone บริเวณแก้มดูเหมือนจะลดลง รูขุมขนดูละเอียดขึ้น

หลังจากนั้นก็ทาทั้งสองฝั่งแบบจริงจังจนถึงปัจจุบันน่าจะเกิน 3 เดือนไปแล้ว ที่รู้สึกชอบมากคงหนีไม่พ้นเรื่องของความแข็งแรงของผิว และความรู้สึกดีหลังใช้งาน อารมณ์แบบรักผิวตอนนี้มาก แม้จะมีปัญหากับการใส่ Mask บ้างก็ตาม
ค่า pH อยู่ที่ราวๆ 4 – 5 นะคะ

สำหรับส่วนผสมเป็นดังนี้ค่ะ

ในภาพรวมแม้ส่วนผสมจะดูเหมือนค่อนข้างเยอะชนิด แต่ส่วนใหญ่เป็นสารบำรุงที่มีประโยชน์ต่อผิวในด้านต่างๆ เรียกได้ว่าดูแลปัญหาผิวได้อย่างครอบคลุมเลยทีเดียว
วันนี้แบ่งส่วนผสมไว้เป็นสีๆ ตามกลุ่มของการออกฤทธิ์นะคะ
โดยขอเริ่มที่กลุ่มสีชมพู กลุ่มของไขมัน และสารที่ใช้ทำ MLETM (Multi-lamellar emulsion) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสิทธิบัตรของทาง Neopharm ประเทศเกาหลี
- MLETM ปกติแล้วในผิวเราจะมีไขมันที่ทำหน้าที่เป็น Barrier ผิว ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 กลุ่ม คือ Ceramide + Cholesterol และ Fatty acid ไขมันเหล่านี้มันจะเรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบซึ่งมีด้วยกันหลายรูปผลึก ส่วนหนึ่งเป็นรูปแบบ Liquid crystal
- เจ้า MLETM นี่เป็นสูตรผสมของ Pseudoceramide (Myristoyl/palmitoyl oxostearamide/arachamide MEA หรือ PC-9S) ร่วมกับ Cholesterol, Phytosterol, rapeseed sterols และกรดไขมัน Stearic acid กับกรดไขมันใน น้ำมันจากแมคคาเดเมีย และ Caprylic/capric triglycerides ซึ่งเรียงตัวในรูปแบบที่คล้ายกับ Liquid crystral ของผิว เลยสามารถทำหน้าที่ปกป้องผิวทดแทน Barrier ของผิว อีกตัวที่เป็นส่วนประกอบของ MLE คือ Dihydroxyisopropyl capryloylcaprilamide หรือ PC-5SP ซึ่งพอเอามารวมกับ PC-9S และสารอื่นๆ ในสัดส่วนที่เหมาะสมจะเกิดเป็นโครงสร้างรูปแบบ Liquid crystal ที่เวลาดูภายใต้กล้องจุลทรรศน์ Polarized microscope จะเห็นเป็นลักษณะพิเศษที่เรียกว่า Maltese cross ซึ่งเหมือนกับการเรียงตัวของ Barrier ผิว ตามภาพ
- Phytosterols และ Rapeseed sterols ที่เสริมเข้ามายังมีประโยชน์เพิ่มเติมในด้านการดูแลปัญหาการอักเสบและระคายเคืองของผิว
ถัดมาจะเป็นกลุ่มของ Peptide ต่างๆ ที่เป็นอักษรสีส้มนะคะ
Heptasodium hexacarboxymethyl dipeptide-12 ตัวนี้คือ Aquatide ที่เป็นตัวหลักตัวหนึ่ง โดยมีประโยชน์ในการเสริมกระบวนการ Autophagy ที่เกิดขึ้นภายในผิว ซึ่งเป็นเสมือนกระบวนการที่ผิวเรารีไซเคิลเอาองค์ประกอบที่มันเสื่อมสภาพมาสร้างและฟื้นฟูเป็นองค์ประกอบใหม่ ให้ผิวเราทำงานได้ดีเหมือนเดิม ขอใช้รูปเก่ามาประกอบค่ะ

สำหรับท่านที่สนใจเรื่อง Aquatide สามารถตามไปอ่านเรื่องของ Aquatide แบบละเอียดได้ที่ลิงค์นี้นะคะ (https://cosmeknowledge.wordpress.com/2019/06/11/spotlight-aquatide/)
Tetracarboxymethyl hexanoyl dipeptide-12 ตัวนี้มีชื่อทางการค้าว่า AdiposolTM ซึ่งข้อมูลจากผู้ผลิตวัตถุดิบกล่าวว่าน้องไปมีผลกระตุ้น Adiponectin ซึ่งเป็น Peptide hormone ชนิดหนึ่งที่สร้างจากเซลล์ไขมัน (Adipocyte) ปกติ Adiponectin จะมีบทบาทในระดับร่างกาย แต่ก็มีการพบว่า Adiponectin นั้นมีประโยชน์กับผิวหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น การเสริมสร้างการสังเคราะห์ไขมันที่เป็น Barrier ผิว การแบ่งตัวเพิ่มจำนวนของเซลล์ผิว เสริมการสังเคราะห์คอลลาเจนและ Hyaluron ในธรรมชาติของผิว และลดการอักเสบระคายเคือง (Oh, et al., Biomol Ther (Seoul). 2021; Sep 28. doi: 10.4062/biomolther.2021.089.)

ทีนี้ปัญหาอยู่ที่ว่ารังสี UV และปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม อย่างมลภาวะ ไปกดการสร้าง Adiponectin เลยทำให้กระบวนการต่างๆ เหล่านี้หายไป นอกจากนี้รังสี UV ยังไปทำให้เอนไซม์ MMP มาย่อยสลายคอลลาเจนเกิดความเหี่ยวขึ้นมาอีกต่อหนึ่ง
ในจุดนี้ข้อมูลจากผู้ผลิตวัตถุดิบ AdiopSOL กล่าวว่า สารนี้ยังเสริมกระบวนการ Autophagy ลดการสร้างเอนไซม์ MMP และลดการอักเสบในระดับหลอดทดลอง และลดรอยแดงของผิวในอาสาสมัคร
Pentasodium tetracarboxymethyl palmitoyl dipeptide-12 ตัวนี้มีชื่อย่อว่า PTPD เป็นเปปไทด์ที่พัฒนามาเพื่อเสริมกระบวนการ Autophagy ซึ่งมีการทดสอบประสิทธิภาพในอาสาสมัครที่เป็นโรคผิวหนังชนิด Atopic dermatitis เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าอาสาสมัครมีอาการระคายเคือง คัน ลดลง และมีความชุ่มชื้นของผิวเพิ่มขึ้น (Kwon, et al. J Dermatolog Treat. 2019;30(6):558-564.) นอกจากนี้ข้อมูลจากผู้ผลิตวัตถุดิบกล่าวว่า PTPD ยังมีคุณสมบัติลดปริมาณของเม็ดสีผิว ผ่านการเสริมการเกิด Autophagy ของแหล่งสร้างเม็ดสีผิวอย่าง Melanocyte
Acetyl dipeptide-1 cetyl ester ตัวนี้เป็น Peptide ตัวหนึ่งที่เราเจอกันค่อนข้างบ่อย น้องเด่นในแง่ของการลดความรู้สึกระคายเคือง ซึ่งมีการศึกษารองรับในอาสาสมัคร โดยให้อาสาสมัครทา Capsaicin เพื่อเกิดการระคายเคือง แล้วทาผลิตภัณฑ์ที่มีสารตัวนี้ลงไป พบว่า สารนี้สามารถลดการระคายเคืองและความรู้สึกแสบร้อนที่เกิดขึ้น (J Eur Acad Dermatol Venereol. 2016;30 Suppl 1:18-20.) สำหรับกลไกในการออกฤทธิ์จะเกิดผ่านระบบของ Opioid โดยไปลดการนำส่งสัญญาณกระแสประสาทที่ให้เกิดความรู้สึกแสบร้อน
กล่าวถึงระบบของ Opioid ในผิวหนังเรานั้น เป็นระบบที่ควบคุมการสื่อสารทางระบบประสาทภายในผิว (Skin neuroendocrine system) จะมีสารที่ชื่อว่า met-Enkephalin สร้างออกมาจากเซลล์เมล็ดเลือดขาว monocyte ทำหน้าที่หลักในการรักษาสมดุลของผิวผ่านการควบคุมกระบวนการอักเสบของผิวและการแบ่งตัวเพิ่มจำนวน/เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเซลล์ในชั้นหนังกำพร้า รวมไปถึงเสริมการฟื้นฟูตัวเองเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น (Bigliardi, et al. Exp Dermatol. 2016;25:586-591.)
ซึ่ง Acetyl dipeptide-1 cetyl ester จะไปเหนี่ยวนำให้เกิด met-Enkephalin ที่ไปจับกับตัวรับของ Opioid ซึ่งมีผลลดการระคายเคือง เสริมการฟื้นฟูผิว และทำให้ผิวแข็งแรงในระยะต่อมา
กลุ่มของสารเพิ่มความชุ่มชื้นแทนด้วยสีบานเย็น จะเป็นตัว Hyaluronic acid รูปแบบดั้งเดิม และ Hydrolyzed hyaluronic acid ที่ผ่านการย่อยให้มีขนาดเล็กลง กรดอะมิโน Arginine และวัตถุดิบอีกชิ้นที่เรียกว่าเป็น Exclusive ingredient ของทางแบรนด์ คือ Dihydroxyisopropyl capryloylcaprilamide
- Dihydroxyisopropyl capryloylcaprilamide มีชื่อย่อว่า K6-PC5 มีคุณสมบัติในการเสริมความแข็งแรงของผิวแบบอ้อมๆ ผ่านการเสริมการสร้างสาร Sphingosine ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญใน Ceramide และ Sphingosine ยังควบคุมกระบวนการทำงานต่างๆ ของผิว โดยรวมจะช่วยให้ผิวเราเก็บกักและอุ้มน้ำไว้ได้ดีขึ้น
ถัดมาเป็นกลุ่มของสารที่ลดการอักเสบและระคายเคืองผิว รวมถึงสารบำรุงอื่นๆ ซึ่งมีด้วยกันหลายชนิด อย่างวิตามินบี 3 บี 5 Betaine, Dipotassium glycyrrhizate, Allantoin และอีกตัวที่น่าสนใจ
- Caprylamide MEA หรือ Dualguard-7TM สารนี้มีคุณสมบัติดูแลเรื่องการอักเสบระคายเคืองโดยไปลดการสร้างสารเหนี่ยวนำการอักเสบในกลุ่มของ Interleukin-17 (IL-17) เสริมกระบวนการ Autophagy ผ่านการยับยั้งโปรตีน p62 ซึ่งเป็นตัวต่อต้านการเกิด Autophagy และเสริมการสังเคราะห์คอลลาเจน
ปิดท้ายด้วยสีเขียวเป็นกลุ่มของบัวบกและคณะ เป็นสารสกัดจากบัวบก ที่มีประโยชน์ต่อผิวในหลายประการ ตัวนี้ทางแบรนด์เคลมว่าเป็นสารสกัดจากบัวบกในรูปแบบ Medical grade ในความเข้มข้นสูงถึง 50% และยังเสริมสารบริสุทธิ์ที่เป็นสารพฤกษเคมีหลัก (Active phytochemicals) ในบัวบก อย่าง Madecassoside, Asiaticoside, Madecassic acid, และ Asiatic acid เข้ามา ซึ่งสารเหล่านี้มีประโยชน์ในด้านการลดการอักเสบ เสริมการสมานแผล ชะลอวัยลดเลือนริ้วรอย เป็น Antioxidant และอื่นๆอีกหลายด้าน
สารเพิ่มความชุ่มชื้นผิวมากขนาดนี้ผิวจะมันไหม?
ในจุดนี้ทางแบรนด์วางแผนการตั้งตำรับมาอย่างรอบคอบโดยการเสริมเอา Zinc PCA เข้ามา ซึ่งเจ้า Zinc PCA เป็นสารลูกผสมของ Zinc กับ Pyrollidone carboxylic acid (PCA) มีรายงานการวิจัยกล่าวว่านอกจากคุณสมบัติในการกระชับรูขุมขนควบคุมความมัน (Astringent) แล้ว Zinc PCA ยังมีรายงานว่ามีประโยชน์ในการปกป้องผิวหนังจากรังสี UVA และลดผลเสียจากรังสี โดยไปลดการสร้าง Activator protein 1 ที่จะไปเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบต่อ และ MMP-1 ที่เป็นเอนไซม์ที่ทำลายคอลลาเจนในผิว (Int J Cosmet Sci. 2012; 34(1):23-8.)
สำหรับส่วนผสมอื่นๆ นั้นถือว่าเป็นมิตรกับผิวทั้งหมด
ให้คะแนนกันดีกว่าค่ะ
- สารบำรุง ในภาพรวมนอกจากความโดดเด่นในแง่ของด้าน Autophagy ที่มีประโยชน์ทั้งการชะลอวัย เสริมความแข็งแรงให้กับผิวแล้ว ยังเสริมมาด้วยสารบำรุงอีกหลายชนิดที่ดูแลผิวได้อย่างครอบคลุมจบทุกปัญหา และช่วยให้ผิวมีสุขภาพดี ให้ไป 5 ฟลาสก์
- ส่วนผสมอื่นๆ เลือกมาได้ค่อนข้างดี ไม่มีสารที่ไม่เป็นมิตรกับผิวเลยขอให้ไป 5 ฟลาสก์
- การใช้งาน ถ้าเทียบกับในไลน์ของ Autophagy ที่ออกมาทั้ง 4 สูตร รวมตัวนี้ ส่วนตัวชอบตัวนี้มากที่สุด ทั้งในแง่ของความรู้สึกเบาสบายผิว เรื่องของอาการแดงและคันระคายเคืองผิว สำหรับกลางวันคือ perfect มาก แต่ถ้าเป็นตอนกลางคืนส่วนตัวจะรู้สึกว่าความชุ่มชื้นตัวเนื้อเซรั่มอาจจะยังน้อยไปนิดหน่อยสำหรับบริเวณที่มีปัญหาผิวแห้งจริงๆ อย่างบริเวณแก้ม แต่เอาครีมมอยส์เจอร์อื่นมาทับไว้อีกชั้นหนึ่งคือสมบูรณ์แบบมาก จากที่ได้ทดลองใช้มาตั้งแต่ก่อนผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด จนถึงตอนนี้ก็ประมาณ 3 เดือน สิ่งที่ดีงามคือ สุขภาพผิวโดยรวมดีขึ้นมาก ตามที่ได้กล่าวไปในด้านบน ขอให้ไป 5 ฟลาสก์

สุดท้ายนี้ขอขอบคุณทางแบรนด์ DermArtlogy ด้วยนะคะ ที่ส่งสินค้าดีๆมาให้มี่ได้ทดลองใช้ และขอบคุณทุกๆท่านด้วยค่ะที่ติดตามรับชมมาจนจบค่ะ
สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ทางแบรนด์ DermArtlogy โดยตรงเลยนะคะ
https://www.facebook.com/DermArtlogyThailand/
𝐋𝐢𝐧𝐞 𝐎𝐟𝐟𝐢𝐜𝐢𝐚𝐥 : @dermskintech หรือคลิก https://bit.ly/2ZWhJB1
𝐋𝐚𝐳𝐚𝐝𝐚 : https://bit.ly/3pVBtOO
𝐒𝐡𝐨𝐩𝐞𝐞 : https://shp.ee/34de5z5
Disclaimer/conflict of interests: ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับการสนับสนุนจากทางแบรนด์ DermArtlogy การรีวิวครั้งนี้เป็นการวิเคราะห์ส่วนผสมตามหลักการทางวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางและอาศัยความเห็นส่วนบุคคล ผู้เขียนไม่ได้มีผลประโยชน์ใดๆในการขายสินค้า โปรดใช้วิจารณญาณ