เดี๋ยวนี้นักวิทยาศาสตร์เริ่มสนใจผลของมลพิษที่มีต่อผิวกันมากขึ้นแล้วค่ะ มีรายงานการวิจัยอยู่ไม่น้อยเลย ที่ศึกษาและพบว่ามลพิษต่างๆมีผลเสียกับผิวมากมาย ใน Blog เก่าที่เคยเขียนไว้ก็ยังไม่ค่อยอัพเดท วันนี้เลยขอมาอัพเดทอีกรอบนะคะ
เปิดด้วยภาพถ่ายจากน่านฟ้าเมืองเชียงราย เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ขมุกขมัวมากเลย เห็นแล้วก็เหนื่อยใจจังค่ะ
เปิดประเด็นกับคำถามที่ว่า มลพิษ หรือ Pollution คืออะไร?
นิยามจาก WHO กล่าวว่า “Pollutions are contamination of the indoor or outdoor environment by any chemical, physical or biological agent that modifies the natural characteristic of the atmosphere”
แปลเป็นไทยง่ายๆว่า มลพิษคือสิ่งเจือปนในสิ่งแวดล้อม สิ่งเจือปนนี้อาจจะเป็นได้ทั้ง สารเคมี วัสดุทางกายภาพ เช่น ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ วัสดุชีวภาพ เช่น เกสรดอกไม้ สปอร์เชื้อรา ก็ได้ เดี๋ยวนี้มีรายงานมาบอกอีกว่า เกสรดอกไม้ที่ล่องลองในอากาศสามารถเหนี่ยวนำให้ผิวเกิดการอักเสบ และ Barrier ผิวเสียได้อีก เรียกได้ว่า อีกหน่อยคงต้องเอาพลาสติกมาห่อตัวแล้วหละ
ทุกวันนี้ปัญหามลภาวะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ มลภาวะทางอากาศค่ะ
รูปสองรูปนี้คือรูปที่ถ่ายจากมุมเดียวกัน เดือนเดียวกัน แต่ถ่ายก่อนและหลังฝนตก น่ากลัวใช้ได้เลยทีเดียว ควันๆนี่ไม่ใช่หมอกแต่อย่างใดนะคะ คือ ฝุ่นละอองมลภาวะล้วนๆ
(By Bobak (Own work) [CC BY-SA 2.5 (https://creativecommons.org/licenses/by-sa/2.5)%5D, via Wikimedia Commons)
เราพบว่าในภูมิภาค Asia Pacific บ้านเรานี้มีมลภาวะสูงเป็นอันดับ 1 ของโลกเลยค่ะ พีคไปอีก
แบ่งชนิดของมลภาวะได้เป็นสองกลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มของฝุ่นละอองในอากาศ หรือ Particulate matter (PM) ซึ่งมีด้วยกัน 3 ชนิดย่อยๆ คือ
- Coarse particle มีขนาดอยู่ในช่วงประมาณ 10 ไมครอน เรียก PM10 เกิดจากเครื่องยนต์ต่างๆ
- Fine particle มีขนาดอยู่ในช่วงประมาณ 2.5 ไมครอน เรียก PM2.5 เกิดจากการเผาไหม้
- Ultrafine particle มีขนาดเล็กมาก น้อยกว่า 0.1 ไมครอน อันนี้ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงค่ะ
(ที่มา EPA. https://www.epa.gov)
มีรายงานวิจัยหลายๆฉบับพบว่า PM เหล่านี้สามารถแทรกซึมลงไปในผิวและสามารถทำให้เกิดความเสื่อมของผิวต่างๆได้ค่ะ
โดยเมื่อ PM ลงไปในผิว นางจะไปเหนี่ยวนำให้เกิดอนุมูลอิสระ และสารก่อนการอักเสบในกลุ่มของ Interleukins บางชนิด ทำให้เกิดอาการอักเสบ และเกิดความเสื่อมต่างๆของผิวมากมายค่ะ
เราสามารถสรุปได้ ย่อๆ ว่า มลภาวะ มีผลต่อผิว 4 ประการหลัก คือ อักเสบ เหี่ยว ดำ และ เสื่อม
- อักเสบ คือ การที่มลภาวะเหล่านี้ซึมลงไปในผิวแล้วกระตุ้นให้เกิดการสร้างสารก่อการอักเสบในตระกูลของพวก Interleukins ขึ้นมา ซึ่งจะมีผลทำให้ผิวเราเกิดการอักเสบต่างๆมากมาย
- เหี่ยว เมื่อมลภาวะลงไปในผิวจะไปเหนี่ยวนำให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้นมาในผิว ที่จะมีผลทำให้เอนไซม์ MMP ทำงานเพิ่มขึ้น เอนไซม์นี้เป็นเอนไซม์ที่ไปย่อยสลายคอลลาเจนและอิลาสตินในผิว ทำให้ผิวเหี่ยวและเกิดเป็นริ้วรอยตามมา
- ดำ อนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นจากมลภาวะสามารถไปเหนี่ยวนำให้เซลล์สร้างเม็ดสีผิว สร้างเม็ดสีผิวมากขึ้น ทำให้ผิวดำคล้ำ หรือ เกิดเป็นจุดด่างดำ
- เสื่อม มลภาวะทำลาย Barrier ผิว ทำให้ Barrier ผิวเสื่อมลง ผิวจะแพ้ได้ง่ายขึ้น
นอกจากเหล่า PM พวกนี้แล้ว มีอีกสิ่งที่วงการเครื่องสำอางค่อนข้างกลัวก็คือ กลุ่มของสารอินทรีย์ ที่เป็นกลุ่มของ PAH หรือ Polycyclic aromatic hydrocarbon เช่นกลุ่มของสาร Benzo[a]pyrene ที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ สารกลุ่ม PAH พวกนี้สามารถลงไปในผิวและกระตุ้นให้เกิดการอักเสบต่างๆและเกิดเป็นริ้วรอยขึ้นมาได้ รวมไปถึงเพิ่มอุบัติการณ์ในการเกิดมะเร็งด้วยค่ะ
การศึกษาของ Pan และคณะ เมื่อปี 2015 ได้ทดสอบผลของมลภาวะที่ประกอบด้วย โลหะหนัก กับ PAH ต่อผิวหนังของหมู พบว่า มลภาวะที่มีส่วนผสมของ PAH มีผลทำให้การทำงานของ Barrier ผิวของหมูเสียไป มีการระเหยของน้ำออกจากผิวหมูมากขึ้น ทำให้สารหลายๆชนิดซึมผ่านเข้าออกผิวหนังได้ดีขึ้น (ตรงนี้อย่านึกว่าดีนะคะ เพราะถ้าสารก่อภูมิแพ้ลงไปในผิวได้ง่ายแล้ว ใช้อะไรก็จะแพ้ง่ายหมด ทีนี้จะใช้อะไรก็ลำบาก) นอกจากนี้ ลมภาวะที่มี PAH ยังทำให้เกิดอาการอักเสบเพิ่มขึ้นอีก
การศึกษาจากบริษัท ID bio – Ester Technopole พบว่า Benzo[a]pyrene มีผลไปกดการทำงานของ สิ่งที่เรียกว่า Tight junction ซึ่งเป็นช่องแคบๆที่คอยกั้นไม่ให้น้ำและสารโมเลกุลเล็กๆออกจากผิว พอเจ้า Tight junction ลดลง Barrier ก็จะเสียไป ทำให้น้ำระเหยออกจากผิวได้ง่ายขึ้น เกิดเป็นผิวแห้ง และทำให้สารต่างๆซึมผ่านเข้าออกผิวได้ง่ายขึ้น เสี่ยงเป็นผิวแพ้ง่าย
บทความของ Roberts (2015) ได้กล่าวว่า เมื่อสารในกลุ่ม PAH ลงไปในผิวจะเกิดการแปรสภาพเป็น สารในกลุ่ม Quinone ซึ่งเหนี่ยวนำให้เกิดการสร้างอนุมูลอิสระขึ้นมา อนุมูลอิสระนี้จะไปเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบ มีการสร้างเอนไซม์ MMP มากขึ้น ซึ่งเอนไซม์ MMP เป็นตัวย่อยสลายคอลลาเจนและอิลาสตินในผิว เกิดเป็นริ้วรอยขึ้นมา และยังมีผลทำให้เกิดการสร้างเม็ดสี Melanin เพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่ง Roberts บอกว่า การที่โลกเรามี Pollution มากขึ้น อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่อธิบายได้ว่าทำไมคนเป็นฝ้าเพิ่มขึ้น
จะเห็นว่า Pollution นี่ค่อนข้างน่ากลัวเลยทีเดียวค่ะ ทั้งเหี่ยว ทั้งอักเสบ ทั้งดำ ทั้งทำให้ผิวบอบบางได้อีก
Ref:
Kim et al. Life Sci. 2016;152:126-134.
Pan et al. J Dermatol Sci. 2015;78(1):51-60.
Roberts WE. J Drugs Dermatol. 2015;14(4):337-41.
Note: สงวนลิขสิทธิ์ในบทความตามพ.ร.บ.ทรัพย์สินทางปัญญา
4 thoughts on “[Beauty Talks] ผลของมลภาวะกับผิวพรรณ”