Image

รีวิว/วิเคราะห์ส่วนผสมครีมสำหรับดูแลปัญหาผิวบอบบาง รอยแดงและการระคายเคือง Ultrasensitive Repair Cream จาก Eucerin

สวัสดีค่ะ สำหรับ Blog นี้จะเป็นบทวิเคราะห์ส่วนผสมและรีวิวผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งที่เชื่อว่าน่าจะตอบโต

ผลิตภัณฑ์ที่จะวิเคราะห์ส่วนผสมวันนี้มาจากแบรนด์ Eucerin แบรนด์เวชสำอางที่อยู่คู่กับบ้านเรามานาน จนจะเรียกว่าเป็นแบรนด์เวชสำอางแบรนด์แรกๆ ของไทยเลยก็ว่าได้

ผลิตภัณฑ์ที่จะมาวิเคราะห์ส่วนผสมครั้งนี้มีชื่อว่า Eucerin UltraSensitive Repair Cream ซึ่งมาในหน้าตาแบบนี้นะคะ

ตัวบรรจุภัณฑ์มีหน้าตาประมาณนี้นะคะ

จุดที่น่าสนใจจุดแรก คือ บรรจุภัณฑ์มีเทคโนโลยี Air-free system ที่มีส่วนของจุกปิดบริเวณปลายของปั๊มค่ะ เมื่อเรากดปั๊มจุกดังกล่าวจะเคลื่อนที่เข้าไปด้านใน เพื่อให้เนื้อครีมออกมา และพอเราคลายแรงกด ตัวจุกก็จะกลับมาปิดเหมือนเดิมเพื่อลดการปนเปื้อนจากภายนอก

สำหรับเนื้อครีมจะมาในเนื้อที่ข้นหน่อยนะคะ ไม่มีกลิ่น เพราะไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม

เกลี่ยได้ง่าย ให้สัมผัสที่อาจจะเหนอะเล็กน้อย แต่ตัวเองเป็นคนผิวแห้งก็เลยชอบความชุ่มแบบนี้

สำหรับส่วนผสมเป็นดังนี้นะคะ

ซึ่งจุดเด่นที่แบรนด์เคลม คือ ประกอบด้วยส่วนผสมที่เด่นในด้านของการดูแลผิวที่มีปัญหาบอบบาง 3 ชนิด ได้แก่ Symsitive, Licochalcone A และ Dexpanthenol ซึ่งจะมาเล่าให้ฟังอีกทีนะคะ

ส่วนผสมวันนี้ได้ทำไว้ 4 สีค่ะ

ขอเริ่มที่สูตรผสมของ Pentylene glycol และ 4-t-Butylcyclohexanol คือตัว Symsitive ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นในแง่ของการลดการอักเสบระคายเคือง และลดความรู้สึกไม่สบายผิว ซึ่งออกฤทธิ์ผ่านกลไกการยับยั้ง Receptor รับความรู้สึกร้อน-เย็นในกลุ่ม TRP receptor โดยตัวนี้จะไปโฟกัสที่ TRPV receptor ซึ่งรับความรู้สึกร้อน

ขอเล่าประวัติน้องนิดหน่อยนะคะ เจ้า TRPV-1 receptor นี้ถูกกระตุ้นได้ด้วยสารหลายชนิด อย่างที่เรารู้จักกันก็คือ Capsaicin จากพริก ลองจินตนาการเวลาเราหั่นพริก เราก็จะรู้สึกแสบร้อนที่มือ เพราะ Capsaicin ไปจับกับ TRPV receptor ทำให้เกิดการส่งผ่านความรู้สึกว่าฉันร้อน ฉันแสบ เช่นเดียวกัน กรณีของผิวระคายเคือง รู้สึกร้อนวูบวาบ ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากสารเคมีบางชนิดไปจับกับ Receptor รับความรู้สึกร้อน-เย็นในกลุ่ม TRP receptor เลยทำให้รู้สึกร้อนแสบระคายเคือง ก่อนจะมีการไปกระตุ้นให้เกิดอาการระคายเคือง และรอยแดงต่อมา (Iftinca, et al. Drugs. 2021;81:7–27) อารมณ์ประมาณภาพนี้

(Image source: The Author 2011. Published by Oxford University Press, CC BY-SA 2.5, via Wikimedia Commons)

ซึ่งจุดนี้บทความของ Misery และคณะ (2016) ได้กล่าวว่า ผิวบอบบางแพ้ง่าย หรือ Sensitive skin นั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยหนึ่งในนั้นคือ การส่งสัญญาณประสาทผ่าน TRPV receptor ที่ถูกกระตุ้นผ่านกลไกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสารเคมี แรงทางกายภาพ รวมถึง ผ่านระบบกลไกต่างๆ ภายในและภายนอกร่างกาย (J Eur Acad Dermatol Venereol. 2016 Feb;30 Suppl 1:2-8.) ทำให้รู้สึกแสบ คัน ระคายเคือง และไม่สบายผิว

อีกชิ้นงานหนึ่งก็น่าสนใจนะคะ บทความของ Guin และคณะ (2017) ได้กล่าวว่า TRP receptor มีผลต่อการเกิดการอักเสบของผิวผ่านระบบของการหลั่งสารที่เกี่ยวข้องกับระบบของเส้นประสาท (Neuropeptide) ซึ่งทำให้เกิดอาการระคายเคือง คัน และรอยแดง โดยอาจจะเป็นในระยะยาว หรือเป็นแบบเรื้อรัง (Protein Cell. 2017;8(9):644-661.) สำหรับเจ้า 4-t-Butylcyclohexanol นี้ นางจะเป็นสารที่ไปยับยั้งไม่ให้ TRPV-1 receptor ทำงาน จึงไม่เกิดการส่งผ่านความรู้สึกแสบร้อนเข้าไป การรู้สึกร้อนแสบระคายเคืองก็จะลดลง มีการทดสอบทางคลินิกยืนยันถึงประสิทธิภาพอยู่หลายชิ้นเหมือนกัน ขอเลือกอันที่น่าสนใจมาเล่าให้ฟังนะคะ

  • Srour และคณะ (2020) ได้ทดสอบประสิทธิภาพของครีมที่มี 4-t-Butylcyclohexanol ในการลดการระคายเคืองของผู้ป่วยที่มีอาการผิวอักเสบบริเวณรอบปาก โดยให้ทาครีมดังกล่าวเป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น รวมถึงมีค่าความชุ่มชื้น และมีการระเหยของน้ำออกจากผิว (TEWL) ลดลง แสดงให้เห็นว่า Barrier ผิวกลับมามีสุขภาพที่ดีขึ้น (J Cosmet Dermatol. 2020;19(6):1409-1414)
  • Schoelermann และคณะ (2016) ได้ทดสอบเปรียบเทียบประสิทธิภาพของครีมที่มี 4-t-Butylcyclohexanol กับ acetyl dipeptide-1 cetyl ester ในการลดการระคายเคืองจาก Capsaicin ในผู้ที่มีปัญหา Sensitive skin โดยให้อาสาสมัครทาครีมดังกล่าวเป็นเวลา 3 วัน แล้วมาทดสอบประสิทธิภาพในการลดการระคายเคืองหลังจากทา Capsaicin พบว่า 4-t-Butylcyclohexanol ลดการระคายเคืองได้ตั้งแต่ช่วง 1 – 2 นาทีแรก และให้ผลไม่ต่างจากครีมที่มี acetyl dipeptide-1 cetyl ester (J Eur Acad Dermatol Venereol. 2016;30 Suppl 1:18-20.)

ต่อมาสีฟ้า สารสกัดจาก Glycyrrhiza inflata หรือ ชะเอมจีน ประกอบด้วยสารพฤกษเคมี Licochalcone A เป็นสารสำคัญ ซึ่งสารนี้โดยตัวมันเองมีคุณสมบัติเด่นในด้านการลดการอักเสบระคายเคือง โดยน้องจะไปลดการอักเสบ โดยลดการสร้าง Prostaglandin E2 และลดการทำงานของระบบ NF-kB (อ่านว่า เอ็นเอฟ คัปป้าบี) ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบผ่านหลายกลไก (J Eur Acad Dermatol Venereol. 2016;30 Suppl 1:9-17.) ในระดับหลอดทดลอง มีการทดลองอยู่หลายชิ้นที่พบว่า การเสริมฤทธิ์กันของ Licochalcone A กับ 4-t-Butylcyclohexanol นั้นให้ผลที่ดีขึ้นในการลดการระคายเคือง คัน แดง ของผู้ที่มีปัญหา Sensitive skin ขอเลือกหยิบอันที่น่าสนใจมาเล่าให้ฟังค่ะ

  • การทดลองของ Sulzberger และคณะ (2016) ได้ทดสอบประสิทธิภาพของครีมที่มีส่วนผสมของ 4-t-Butylcyclohexanol และ Licochalcone A พบว่าลดรอยแดงหลังจากการโกนขนได้ (J Eur Acad Dermatol Venereol. 2016;30 Suppl 1:9-17.)
  • การทดลองของ Boonchai และคณะ (2018) ได้ทดสอบประสิทธิภาพของครีมที่มีส่วนผสมของ 4-t-Butylcyclohexanol และ Licochalcone A (จะขอย่อว่า T+L) ในการรักษาอาการผิวหนังอักเสบ (Dermatitis) เปรียบเทียบกับตัวยา Steroid Triamcinolone acetonide (ความเข้มข้น 0.02%) เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าทั้ง 2 ตัวให้ผลในการลดอาการระคายเคือง คัน รอยแดงได้ไม่ต่างกัน เพียงแต่ ครีมที่มีตัวยาจะเห็นผลในการลดอาการ และการอักเสบไวกว่า ส่วนครีม T+L นั้นมีประโยชน์ในด้านการลดรอยแดง และเพิ่มความชุ่มชื้นของผิวมากกว่า (J Cosmet Dermatol. 2018;17(6):1130-1135.)
  • อีกสักชิ้น การทดลองของ Jovanovic และคณะ (2017) ทดสอบประสิทธิภาพของครีม T+L ในอาสาสมัคร Sensitive skin ที่เกิดรอยแดงได้ง่าย และมีความเสี่ยงในการเป็น Rosacea โดยให้อาสาสมัครทาครีมเป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าอาการต่างๆ ลดลงเมื่อเทียบกับก่อนการใช้ครีม (J Drugs Dermatol. 2017;16(6):605-610.)

สีชมพู Panthenol หรือ โปรวิตามินบี 5 ตัวนี้เป็นที่ทราบกัน เป็นตัวดั้งเดิมเลยที่ให้ประโยชน์ในแง่ของการลดการระคายเคือง เพิ่มความชุ่มชื้น เสริมการแบ่งตัวของผิว และ ช่วยฟื้นฟู Barrier ผิว

สุดท้าย สีเขียวมะกอก Shea butter เอาจริงๆ ส่วนตัวไม่ค่อยได้กล่าวถึง Shea butter นะคะ แต่วันนี้ขอนิดหน่อย เพราะไหนๆ ก็ดูเรื่องการลดการอักเสบและระคายเคืองแล้วเลยอยากเล่าว่าใน Shea butter ประกอบด้วยสารในกลุ่ม Unsaponifiables หลายชนิด ซึ่งที่น่าสนใจคือ Phytosterols ที่มีคุณสมบัติในการลดการอักเสบระคายเคืองเช่นกัน

สำหรับส่วนผสมอื่นๆ ก็มีเท่าที่จำเป็น ทำให้ไม่กวนผิวมาก ซึ่งถือว่าเหมาะมากกับผู้ที่มีปัญหาผิวบอบบางแพ้ง่าย

มาสรุปคะแนนกันดีกว่าค่ะ

  1. สารบำรุง เรียกได้ว่าสมกับเป็นแบรนด์เวชสำอางอย่าง Eucerin ที่พัฒนาตัวนี้มาเพื่อตอบโจทย์ Sensitive skin โดยเฉพาะกลุ่มที่มีปัญหาระคายเคือง แสบร้อน คัน และรอยแดงได้อย่างสมศักดิ์ศรี รวมถึงมีงานวิจัยรองรับ จุดนี้ก็ให้ไป 5 ฟลาสก์
  2. ส่วนผสมอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวไปว่า มีการเลือกใส่สารอื่นๆ เป็นส่วนผสมเท่าที่จำเป็น ซึ่งเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาผิวบอบบางแพ้ง่าย เพราะไม่กวนผิวมากนัก รับไป 5 ฟลาสก์
  3. การใช้งาน ส่วนตัวได้ลองใช้ นานๆ ที จะมีปัญหาแสบร้อน แดง และคัน และระคายเคืองเมื่อเปลี่ยนอุณหภูมิ จากที่ร้อนไปเย็น อย่างห้องแอร์ หรือ จากห้องแอร์ออกมาข้างนอก พอได้ใช้ครีมตัวนี้ในตอนเช้า ติดกันราวๆ 2 อาทิตย์ รู้สึกว่าการเปลี่ยนอุณภูมิแทบไม่ทำให้เกิดอาการคันเลย (ในการลองใช้ผลิตภัณฑ์นี้ส่วนตัวลองหลังจากหยุดใช้อีกตัวหนึ่งที่มีผลป้องกันด้านอุณหภูมิไปแล้วนะคะ) ในขณะที่แขน มือ และเท้า ยังมีรอยแดงและมีอาการคันอยู่ จุดนี้ส่วนตัวมองว่าค่อนข้างชอบค่ะ ให้ไป 5 ฟลาสก์

สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณทางแบรนด์ Eucerin ด้วยนะคะที่ส่งผลิตภัณฑ์ดีๆ มาให้ได้รู้จักและทดลองใช้ และขอขอบคุณทุกท่านด้วยค่ะที่ติดตามรับชมมาจนจบ

UltraSENSITIVE Repair Cream 50ml ราคา 1,170.-

รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถอ่านได้จาก https://www.eucerin.co.th/products/hypersensitive-skin/ultrasensitive-repair-cream-50ml

สถานที่จัดจำหน่าย  ร้านวัตสัน ร้านบู๊ทส์ ร้านขายยาขนาดใหญ่ และโรงพยาบาลชั้นนำทั่วไป

Disclaimer/Conflict of interest: ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับการสนับสนุนจากทางแบรนด์ Eucerin การรีวิวครั้งนี้เป็นการวิเคราะห์ส่วนผสม/วัตถุดิบตามหลักการทางวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางและอาศัยความเห็นส่วนบุคคล และผู้เขียนไม่ได้มีผลประโยชน์ใดๆในการขายสินค้า โปรดใช้วิจารณญาณ

Image

รีวิว/วิเคราะห์ส่วนผสม เซรั่มลดเลือนรอยแดงผิวแพ้ง่าย จากแบรนด์ Hylamide สูตรฟ้า Sensitive Fix

สวัสดีค่ะพี่ๆน้องๆเพื่อนๆที่น่ารักทุกท่าน

วันนี้มี่ขอหยิบเอาเซรั่มของ Hylamide อีกตัวมารีวิว/วิเคราะห์ส่วนผสมให้ได้ชมกันนะคะ

รีวิววันนี้จะเป็นสูตร Sensitive fix สีฟ้าค่ะ โดยมีเคลมหลักไปที่การลดรอยแดง และลดอาการระคายเคืองไม่สบายผิว ส่วนตัวมี่จะมีปัญหาการระคายเคืองที่แก้มค่ะ ก็ยอมรับว่าพอใช้ตัวนี้ได้สักพัก คือดีขึ้นจริง แต่ติดตรงอาจจะหาซื้อได้ยากนิดหน่อย ตอนนี้เลยเปลี่ยนไปใช้ตัวอื่นก่อน จนกว่าจะมีโอกาสได้น้องมาอีกรอบ เดี๋ยวตรงนี้ไว้จะเอามาอัพเดทให้ได้ชมกันต่อไปค่ะ

ตัว Hylamide สูตร Sensitive fix นี้มาในขวดสีฟ้านะคะ หน้าตาเป็นแบบนี้ค่ะ

sen 1

เนื้อเซรั่มจะเป็นแบบใส ค่อนข้างเหลวนิดหน่อย และแน่นอนว่าไม่มีน้ำหอม เลยจะได้กลิ่นจางๆของวัตถุดิบอยู่ค่ะ

sen 2

เกลี่ยง่าย ให้สัมผัสบางเบา ซึมไว ไม่เหนอะหนะ แต่ส่วนตัวรู้สึกว่าช่วงที่ใช้วันแรกๆมันจะมีอาการแสบๆอยู่บ้างบริเวณแก้ม กับร่องของปีกจมูกค่ะ ไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามาจากไหน เพราะลองดูที่ส่วนผสมแล้วก็ไม่เจอตัวการที่น่าสงสัยเลย แต่พอใช้ไปซักพัก ก็หายไปค่ะ

sen 3

ค่า pH อยู่ที่ราวๆ 4 – 5 นะคะ

sen 4

สำหรับส่วนผสมเป็นดังนี้นะคะ

สผส sen

ในภาพรวมน้องเป็นเซรั่มที่มาในเบสแบบน้ำ ไม่มีส่วนผสมของน้ำมัน ซิลิโคน และแอลกอฮอล์ รวมถึงพวกน้ำหอมและสารไม่เป็นมิตรอื่นๆนะคะ

สำหรับสารบำรุงวันนี้มี่ทำไว้ 5 สีค่ะ

ขอเปิดการรีวิวที่

  • สีม่วง สูตรผสมของ Lactobacillus/Eriodictyon Californicum Ferment Extract & Phospholipids ตัวนี้เข้าใจว่าน่าจะเป็นวัตถุดิบที่ชื่อ ACB Cationic glycoproteins ของบริษัท Active concepts ตัว Eriodictyon คือพืชอวบน้ำที่มีชื่อว่า Yerba Santa ซึ่งพืชนี้มี Story ว่าสามารถเก็บกักน้ำเอาไว้ในใบของมันได้อย่างดี โดยการใช้จุลินทรีย์ Lactobacillus มาหมัก ก็จะทำให้ได้สารในกลุ่ม Glycoprotein จากพืชตัวนี้ออกมา สารนี้ผู้ผลิตเคลมว่า มีคุณสมบัติในด้านของการเพิ่มความชุ่มชื้น ให้ความรู้สึกสบายผิว ด้วยความที่มีประจุบวก เลยเกาะกับผิวได้ดี
  • สีเขียว เป็นกลุ่มของสารเพิ่มความชุ่มชื้น ซึ่งมีด้วยกันอยู่ 3 ตัวค่ะ
    • Saccharide isomerate ตัวนี้พบได้ค่อนข้างบ่อยในสูตร Moisturizer นางเป็นสารในกลุ่มของ Polysaccharide ที่ดัดแปลงให้มีส่วนประกอบของน้ำตาลโมเลกุลย่อยให้คล้ายกับ Polysaccharide ที่มีในผิวเรา โดยนางจะสามารถจับกับโปรตีนบนผิวเราได้ ทำให้ให้ความชุ่มชื้นได้อย่างยาวนาน
    • Sodium hyaluronate crosspolymer ตัวนี้เป็น Hya ขนาดใหญ่ มีประโยชน์ในการเคลือบผิวเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวชั้นนอก
    • Gum จากมะขาม ตัวนี้มีประโยชน์ทั้งเป็นตัวเพิ่มความหนืดให้แก่เนื้อเซรั่ม และให้ความชุ่มชื้นไปพร้อมๆกันค่ะ นอกจากนี้จะให้สัมผัสที่นุ่ม และเรียบเนียน (Smooth)
  • สีชมพู
    • Mirabilis jalapa extract คือ สารสกัดจาก Marvel of Peru เข้าใจว่าสูตรผสมของ Butylene Glycol (and) Propanediol (and) Mirabilis Jalapa Extract เป็นวัตถุดิบสิทธิบัตรฝรั่งเศส ผู้ผลิตวัตถุดิบเคลมว่า สารสกัดจากพืชนี้ ช่วยลดการส่งสัญญาณระคายเคืองจากชั้นหนังกำพร้าเข้าไปสู่เส้นประสาท ทำให้เรารู้สึกระคายเคืองน้อยลง มีการทดสอบในอาสาสมัครโดยให้อาสาสมัครทาผลิตภัณฑ์ที่มีสารตัวนี้เป็นเวลา 2 เดือน พบว่ารอยแดงจางลง

 

pacifeel

(Image from Sederma)

    • ถ้ากล่าวถึงพืชตัวนี้ ยังมีรายงานการวิจัยสนับสนุนด้วยนะคะ สารสกัดจากใบของต้นนี้มีคุณสมบัติในการลดการอักเสบระคายเคืองในหนูทดลอง (Pharmacognosy Res. 2010;2(6):364-7.) สารสกัดจากลำต้นเหนือดินของต้นนี้ประกอบด้วยสารในกลุ่ม Phytosterol และ Triterpenoid หลายชนิด ได้แก่ β-sitosterol, stigmasterol, ursolic acid, oleanolic acid และ brassicasterol ซึ่งส่วนใหญ่มีฤทธิ์ในการลดการอักเสบและระคายเคือง (Fitoterapia. 1990;61(5):471)
    • Curculigo orchioides extract คือ สารสกัดจาก Golden eye grass เข้าใจว่า สูตรผสมของ Propanediol (and) Glycerin (and) Water (aqua) (and) Curculigo Orchioides Root Extract มีชื่อทางการค้าว่า Caresoft ของบริษัท Provitol มีคุณสมบัติในการลดการอักเสบระคายเคือง โดยทางบริษัทเคลมว่า ผู้ที่มีปัญหาผิวอักเสบ ผิวแพ้ง่าย จะมีค่า pH ที่สูงกว่าผิวคนปกติ สารสกัดตัวนี้จะไปออกฤทธิ์ที่ตัวรับ NHE1 ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมความเป็นกรดของผิว เมื่อผิวเป็นกรดมากขึ้น การระคายเคืองก็จะลดลง (CaresoftTM, The Provitol Group)
  • สีน้ำตาล เป็นกลุ่มของพวกตัวทำละลายที่มีคุณสมบัติเพิ่มความชุ่มชื้นได้ มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า Humectant

 

โดยรวมคือเรียกได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่พัฒนามาเพื่อตอบโจทย์ในด้านของผิวระคายเคือง และรอยแดงโดยเฉพาะ และมีคุณสมบัติรองคือ ช่วยเติมน้ำ เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว

 

มาให้คะแนนกันดีกว่าค่ะ

  1. สารบำรุง มีสารบำรุงอยู่ด้วยกันหลายชนิด มีประโยชน์โดยรวมไปที่ในด้านของการลดรอยแดง และลดอาการอักเสบระคายเคือง ลดความรู้สึกไม่สบายผิว ช่วยปลอบประโลม (Soothing) ผิวให้รู้สึกสบายผิว พร้อมกับเติมน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวไปในตัว ถ้าพิจารณาในแง่ของรอยแดง/ชุ่มชื้น ได้ไปเลย 5 ฟลาสก์เต็ม เอาใจชั้นไปเลย แต่ถ้าพิจารณาในแง่ของภาพรวม น่าจะมีสารบำรุงอื่นๆเสริมเข้ามา เพื่อดูแลปัญหาผิวได้ครอบคลุมมากขึ้น จุดนี้จะขอให้ 3 ฟลาสก์
  2. ส่วนผสมอื่นๆ ไม่มีสารที่ไม่เป็นมิตรกับผิวเลยไม่มีจุดให้หักคะแนน ให้ไป 5 ฟลาสก์
  3. การใช้งาน ส่วนตัวมี่มีผิวผสม/แห้ง เนื้อเซรั่มตัวนี้อย่างเดียวยังเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวได้ไม่พอสำหรับความต้องการของผิวมี่นะคะ ก็ทาครีมทับเอาอีกชั้น ถึงจะพอดี แล้วก็ตามที่ได้เล่าให้ฟังก่อนหน้าว่า ในช่วงแรกที่ใช้ จะรู้สึกแสบและระคายเคืองนิดหน่อย แต่พอใช้ไปเรื่อยๆ อาการพวกนี้ก็หายไป และรอยแดงก็ดีขึ้นจริง เมื่อใช้ไปราวๆ 3 เดือน จุดนี้ถือว่าค่อนข้างชอบ ให้ไป 5 ฟลาสก์

คะแนน sen

สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณทุกท่านด้วยนะคะ ที่ติดตามรับชมมาจนจบ

สำหรับวันนี้คงต้องขอตัวลาไปเท่านี้ พบกันใหม่โอกาสถัดไป สวัสดีค่ะ

 

Disclaimer/conflict of interests: ผลิตภัณฑ์นี้ซื้อด้วยตนเอง การรีวิวครั้งนี้เป็นการวิเคราะห์ส่วนผสมตามหลักการทางวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางและอาศัยความเห็นส่วนบุคคล และผู้เขียนไม่ได้มีผลประโยชน์ใดๆในการขายสินค้า โปรดใช้วิจารณญาณ