สวัสดีค่ะ สำหรับ Blog นี้จะเป็นบทวิเคราะห์ส่วนผสมและรีวิวผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งที่เชื่อว่าน่าจะตอบโต
ผลิตภัณฑ์ที่จะวิเคราะห์ส่วนผสมวันนี้มาจากแบรนด์ Eucerin แบรนด์เวชสำอางที่อยู่คู่กับบ้านเรามานาน จนจะเรียกว่าเป็นแบรนด์เวชสำอางแบรนด์แรกๆ ของไทยเลยก็ว่าได้
ผลิตภัณฑ์ที่จะมาวิเคราะห์ส่วนผสมครั้งนี้มีชื่อว่า Eucerin UltraSensitive Repair Cream ซึ่งมาในหน้าตาแบบนี้นะคะ

ตัวบรรจุภัณฑ์มีหน้าตาประมาณนี้นะคะ

จุดที่น่าสนใจจุดแรก คือ บรรจุภัณฑ์มีเทคโนโลยี Air-free system ที่มีส่วนของจุกปิดบริเวณปลายของปั๊มค่ะ เมื่อเรากดปั๊มจุกดังกล่าวจะเคลื่อนที่เข้าไปด้านใน เพื่อให้เนื้อครีมออกมา และพอเราคลายแรงกด ตัวจุกก็จะกลับมาปิดเหมือนเดิมเพื่อลดการปนเปื้อนจากภายนอก


สำหรับเนื้อครีมจะมาในเนื้อที่ข้นหน่อยนะคะ ไม่มีกลิ่น เพราะไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม

เกลี่ยได้ง่าย ให้สัมผัสที่อาจจะเหนอะเล็กน้อย แต่ตัวเองเป็นคนผิวแห้งก็เลยชอบความชุ่มแบบนี้

สำหรับส่วนผสมเป็นดังนี้นะคะ

ซึ่งจุดเด่นที่แบรนด์เคลม คือ ประกอบด้วยส่วนผสมที่เด่นในด้านของการดูแลผิวที่มีปัญหาบอบบาง 3 ชนิด ได้แก่ Symsitive, Licochalcone A และ Dexpanthenol ซึ่งจะมาเล่าให้ฟังอีกทีนะคะ
ส่วนผสมวันนี้ได้ทำไว้ 4 สีค่ะ
ขอเริ่มที่สูตรผสมของ Pentylene glycol และ 4-t-Butylcyclohexanol คือตัว Symsitive ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นในแง่ของการลดการอักเสบระคายเคือง และลดความรู้สึกไม่สบายผิว ซึ่งออกฤทธิ์ผ่านกลไกการยับยั้ง Receptor รับความรู้สึกร้อน-เย็นในกลุ่ม TRP receptor โดยตัวนี้จะไปโฟกัสที่ TRPV receptor ซึ่งรับความรู้สึกร้อน
ขอเล่าประวัติน้องนิดหน่อยนะคะ เจ้า TRPV-1 receptor นี้ถูกกระตุ้นได้ด้วยสารหลายชนิด อย่างที่เรารู้จักกันก็คือ Capsaicin จากพริก ลองจินตนาการเวลาเราหั่นพริก เราก็จะรู้สึกแสบร้อนที่มือ เพราะ Capsaicin ไปจับกับ TRPV receptor ทำให้เกิดการส่งผ่านความรู้สึกว่าฉันร้อน ฉันแสบ เช่นเดียวกัน กรณีของผิวระคายเคือง รู้สึกร้อนวูบวาบ ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากสารเคมีบางชนิดไปจับกับ Receptor รับความรู้สึกร้อน-เย็นในกลุ่ม TRP receptor เลยทำให้รู้สึกร้อนแสบระคายเคือง ก่อนจะมีการไปกระตุ้นให้เกิดอาการระคายเคือง และรอยแดงต่อมา (Iftinca, et al. Drugs. 2021;81:7–27) อารมณ์ประมาณภาพนี้

(Image source: The Author 2011. Published by Oxford University Press, CC BY-SA 2.5, via Wikimedia Commons)
ซึ่งจุดนี้บทความของ Misery และคณะ (2016) ได้กล่าวว่า ผิวบอบบางแพ้ง่าย หรือ Sensitive skin นั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยหนึ่งในนั้นคือ การส่งสัญญาณประสาทผ่าน TRPV receptor ที่ถูกกระตุ้นผ่านกลไกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสารเคมี แรงทางกายภาพ รวมถึง ผ่านระบบกลไกต่างๆ ภายในและภายนอกร่างกาย (J Eur Acad Dermatol Venereol. 2016 Feb;30 Suppl 1:2-8.) ทำให้รู้สึกแสบ คัน ระคายเคือง และไม่สบายผิว
อีกชิ้นงานหนึ่งก็น่าสนใจนะคะ บทความของ Guin และคณะ (2017) ได้กล่าวว่า TRP receptor มีผลต่อการเกิดการอักเสบของผิวผ่านระบบของการหลั่งสารที่เกี่ยวข้องกับระบบของเส้นประสาท (Neuropeptide) ซึ่งทำให้เกิดอาการระคายเคือง คัน และรอยแดง โดยอาจจะเป็นในระยะยาว หรือเป็นแบบเรื้อรัง (Protein Cell. 2017;8(9):644-661.) สำหรับเจ้า 4-t-Butylcyclohexanol นี้ นางจะเป็นสารที่ไปยับยั้งไม่ให้ TRPV-1 receptor ทำงาน จึงไม่เกิดการส่งผ่านความรู้สึกแสบร้อนเข้าไป การรู้สึกร้อนแสบระคายเคืองก็จะลดลง มีการทดสอบทางคลินิกยืนยันถึงประสิทธิภาพอยู่หลายชิ้นเหมือนกัน ขอเลือกอันที่น่าสนใจมาเล่าให้ฟังนะคะ
- Srour และคณะ (2020) ได้ทดสอบประสิทธิภาพของครีมที่มี 4-t-Butylcyclohexanol ในการลดการระคายเคืองของผู้ป่วยที่มีอาการผิวอักเสบบริเวณรอบปาก โดยให้ทาครีมดังกล่าวเป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น รวมถึงมีค่าความชุ่มชื้น และมีการระเหยของน้ำออกจากผิว (TEWL) ลดลง แสดงให้เห็นว่า Barrier ผิวกลับมามีสุขภาพที่ดีขึ้น (J Cosmet Dermatol. 2020;19(6):1409-1414)
- Schoelermann และคณะ (2016) ได้ทดสอบเปรียบเทียบประสิทธิภาพของครีมที่มี 4-t-Butylcyclohexanol กับ acetyl dipeptide-1 cetyl ester ในการลดการระคายเคืองจาก Capsaicin ในผู้ที่มีปัญหา Sensitive skin โดยให้อาสาสมัครทาครีมดังกล่าวเป็นเวลา 3 วัน แล้วมาทดสอบประสิทธิภาพในการลดการระคายเคืองหลังจากทา Capsaicin พบว่า 4-t-Butylcyclohexanol ลดการระคายเคืองได้ตั้งแต่ช่วง 1 – 2 นาทีแรก และให้ผลไม่ต่างจากครีมที่มี acetyl dipeptide-1 cetyl ester (J Eur Acad Dermatol Venereol. 2016;30 Suppl 1:18-20.)
ต่อมาสีฟ้า สารสกัดจาก Glycyrrhiza inflata หรือ ชะเอมจีน ประกอบด้วยสารพฤกษเคมี Licochalcone A เป็นสารสำคัญ ซึ่งสารนี้โดยตัวมันเองมีคุณสมบัติเด่นในด้านการลดการอักเสบระคายเคือง โดยน้องจะไปลดการอักเสบ โดยลดการสร้าง Prostaglandin E2 และลดการทำงานของระบบ NF-kB (อ่านว่า เอ็นเอฟ คัปป้าบี) ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบผ่านหลายกลไก (J Eur Acad Dermatol Venereol. 2016;30 Suppl 1:9-17.) ในระดับหลอดทดลอง มีการทดลองอยู่หลายชิ้นที่พบว่า การเสริมฤทธิ์กันของ Licochalcone A กับ 4-t-Butylcyclohexanol นั้นให้ผลที่ดีขึ้นในการลดการระคายเคือง คัน แดง ของผู้ที่มีปัญหา Sensitive skin ขอเลือกหยิบอันที่น่าสนใจมาเล่าให้ฟังค่ะ
- การทดลองของ Sulzberger และคณะ (2016) ได้ทดสอบประสิทธิภาพของครีมที่มีส่วนผสมของ 4-t-Butylcyclohexanol และ Licochalcone A พบว่าลดรอยแดงหลังจากการโกนขนได้ (J Eur Acad Dermatol Venereol. 2016;30 Suppl 1:9-17.)
- การทดลองของ Boonchai และคณะ (2018) ได้ทดสอบประสิทธิภาพของครีมที่มีส่วนผสมของ 4-t-Butylcyclohexanol และ Licochalcone A (จะขอย่อว่า T+L) ในการรักษาอาการผิวหนังอักเสบ (Dermatitis) เปรียบเทียบกับตัวยา Steroid Triamcinolone acetonide (ความเข้มข้น 0.02%) เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าทั้ง 2 ตัวให้ผลในการลดอาการระคายเคือง คัน รอยแดงได้ไม่ต่างกัน เพียงแต่ ครีมที่มีตัวยาจะเห็นผลในการลดอาการ และการอักเสบไวกว่า ส่วนครีม T+L นั้นมีประโยชน์ในด้านการลดรอยแดง และเพิ่มความชุ่มชื้นของผิวมากกว่า (J Cosmet Dermatol. 2018;17(6):1130-1135.)
- อีกสักชิ้น การทดลองของ Jovanovic และคณะ (2017) ทดสอบประสิทธิภาพของครีม T+L ในอาสาสมัคร Sensitive skin ที่เกิดรอยแดงได้ง่าย และมีความเสี่ยงในการเป็น Rosacea โดยให้อาสาสมัครทาครีมเป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าอาการต่างๆ ลดลงเมื่อเทียบกับก่อนการใช้ครีม (J Drugs Dermatol. 2017;16(6):605-610.)
สีชมพู Panthenol หรือ โปรวิตามินบี 5 ตัวนี้เป็นที่ทราบกัน เป็นตัวดั้งเดิมเลยที่ให้ประโยชน์ในแง่ของการลดการระคายเคือง เพิ่มความชุ่มชื้น เสริมการแบ่งตัวของผิว และ ช่วยฟื้นฟู Barrier ผิว
สุดท้าย สีเขียวมะกอก Shea butter เอาจริงๆ ส่วนตัวไม่ค่อยได้กล่าวถึง Shea butter นะคะ แต่วันนี้ขอนิดหน่อย เพราะไหนๆ ก็ดูเรื่องการลดการอักเสบและระคายเคืองแล้วเลยอยากเล่าว่าใน Shea butter ประกอบด้วยสารในกลุ่ม Unsaponifiables หลายชนิด ซึ่งที่น่าสนใจคือ Phytosterols ที่มีคุณสมบัติในการลดการอักเสบระคายเคืองเช่นกัน
สำหรับส่วนผสมอื่นๆ ก็มีเท่าที่จำเป็น ทำให้ไม่กวนผิวมาก ซึ่งถือว่าเหมาะมากกับผู้ที่มีปัญหาผิวบอบบางแพ้ง่าย
มาสรุปคะแนนกันดีกว่าค่ะ
- สารบำรุง เรียกได้ว่าสมกับเป็นแบรนด์เวชสำอางอย่าง Eucerin ที่พัฒนาตัวนี้มาเพื่อตอบโจทย์ Sensitive skin โดยเฉพาะกลุ่มที่มีปัญหาระคายเคือง แสบร้อน คัน และรอยแดงได้อย่างสมศักดิ์ศรี รวมถึงมีงานวิจัยรองรับ จุดนี้ก็ให้ไป 5 ฟลาสก์
- ส่วนผสมอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวไปว่า มีการเลือกใส่สารอื่นๆ เป็นส่วนผสมเท่าที่จำเป็น ซึ่งเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาผิวบอบบางแพ้ง่าย เพราะไม่กวนผิวมากนัก รับไป 5 ฟลาสก์
- การใช้งาน ส่วนตัวได้ลองใช้ นานๆ ที จะมีปัญหาแสบร้อน แดง และคัน และระคายเคืองเมื่อเปลี่ยนอุณหภูมิ จากที่ร้อนไปเย็น อย่างห้องแอร์ หรือ จากห้องแอร์ออกมาข้างนอก พอได้ใช้ครีมตัวนี้ในตอนเช้า ติดกันราวๆ 2 อาทิตย์ รู้สึกว่าการเปลี่ยนอุณภูมิแทบไม่ทำให้เกิดอาการคันเลย (ในการลองใช้ผลิตภัณฑ์นี้ส่วนตัวลองหลังจากหยุดใช้อีกตัวหนึ่งที่มีผลป้องกันด้านอุณหภูมิไปแล้วนะคะ) ในขณะที่แขน มือ และเท้า ยังมีรอยแดงและมีอาการคันอยู่ จุดนี้ส่วนตัวมองว่าค่อนข้างชอบค่ะ ให้ไป 5 ฟลาสก์

สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณทางแบรนด์ Eucerin ด้วยนะคะที่ส่งผลิตภัณฑ์ดีๆ มาให้ได้รู้จักและทดลองใช้ และขอขอบคุณทุกท่านด้วยค่ะที่ติดตามรับชมมาจนจบ
UltraSENSITIVE Repair Cream 50ml ราคา 1,170.-
รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถอ่านได้จาก https://www.eucerin.co.th/products/hypersensitive-skin/ultrasensitive-repair-cream-50ml
สถานที่จัดจำหน่าย ร้านวัตสัน ร้านบู๊ทส์ ร้านขายยาขนาดใหญ่ และโรงพยาบาลชั้นนำทั่วไป
Disclaimer/Conflict of interest: ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับการสนับสนุนจากทางแบรนด์ Eucerin การรีวิวครั้งนี้เป็นการวิเคราะห์ส่วนผสม/วัตถุดิบตามหลักการทางวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางและอาศัยความเห็นส่วนบุคคล และผู้เขียนไม่ได้มีผลประโยชน์ใดๆในการขายสินค้า โปรดใช้วิจารณญาณ