Image

Mini-review + วิเคราะห์ส่วนผสม Zeroid pimprove toner

สวัสดีค่ะ วันนี้ขอหยิบเอาโทนเนอร์ลูกรักของแบรนด์ Zeroid สูตร Pimprove มาวิเคราะห์ส่วนผสมให้ได้ชมกันนะคะ

น้องมีหน้าตาประมาณนี้ค่ะ

น้องยังคงคุมโทนอยู่ในเฉดสีชมพูโอรสเหมือนเดิมค่ะ

ตัวแพคเกจมาในขวดพลาสติกขนาด 200 ml

ตัวเนื้อสัมผัสของโทนเนอร์เป็นเนื้อแบบน้ำใส ส่วนตัวเอามาลองใช้ทั้งในรูปแบบน้ำตบ และ หยดใส่สำลีก่อนเช็ดลงบนหน้า

สำหรับส่วนผสม ส่วนตัวมองว่าคัดเลือกมาค่อนข้างดีนะคะ

ในภาพรวม Toner นี้ใช้ส่วนผสมของ LHA (Lipohydroxy acid) ร่วมกับ AHA 3 ตัว (ซึ่งอาจจะเอามาปรับ pH หรือแอบหวังผลในการออกฤทธิ์ด้วยตรงนี้ไม่แน่ใจ) ลดการระคายเคืองด้วย Panthenol กับ Betaine เติมน้ำด้วย Hya กับดูแลปัญหาสิวเพิ่มเติม ควบคุมความมัน ด้วย Zinc PCA และใช้เทคโนโลยี MLE จาก ceramide PC-9S ของทาง Neopharm

ลองมาดูรายละเอียดของส่วนผสมกันนะคะ ขอละ Hya ไว้ในฐานที่นางเป็นสารที่ Popular มากนะคะ

พระเอกของโทนเนอร์นี้คงเป็นเทคโนโลยี MLE ที่เกิดจาก Ceramide PC-9S (Myristoyl/palmitoyl oxosteramide/arachamide MEA) ว่ากันว่า สารนี้เวลาอยู่ในตำรับนางจะเรียงตัวในรูปแบบของ Multi-lamellar emulsion ซึ่งคล้ายกับการเรียงตัวของไขมันที่เป็น Barrier ของผิว สารนี้มีสิทธิบัตรรองรับอยู่หลายชิ้น อย่าง สิทธิบัตรอเมริกา US patent US6221371B1 กับสิทธิบัตรเกาหลี KR20120041294A

ในสิทธิบัตรของอเมริกายังกล่าวว่าตัว PC-9S ยังสามารถเสริมการสร้าง Ceramide ตามธรรมชาติของผิวได้อีก

ส่วนตรงนี้จะเป็นภาพการเรียงตัวของ PC-9S ในรูปแบบ MLE จากสิทธิบัตร KR20120041294A นะคะ

(Image from Korean patent KR20120041294A)

มีพระเอกแล้วก็ต้องมีพระรอง คือ Capryloyl salicylic acid ตัวนี้จัดเป็น Lipohydroxy acid หรือ LHA ซึ่งเป็นอนุพันธ์ที่เกิดจาก Salicylic acid ที่จัดเป็น BHA โดยว่ากันว่า LHA จะลงผิวได้น้อยเลยให้คุณสมบัติผลัดผิวได้ดี

มีการทดสอบหนึ่งที่ศึกษาตั้งแต่ปี 2008 โดยเทียบประสิทธิภาพในการผลัดผิวของ 5-10% LHA กับ 20-50% AHA ในคลินิกเป็นเวลา 12 อาทิตย์ พบว่า LHA ให้ประสิทธิภาพไม่ต่างกันกับ AHA ทั้งในด้านของริ้วรอยตื้นๆ และความสม่ำเสมอของสีผิว (J Cosmet Dermatol. 2008; 7(4):259-62.) แต่การศึกษานี้ใช้ความเข้มข้นค่อนข้างสูง และทำในคลินิกนะคะ

คุณสมบัติในภาพรวมของ LHA คือ มีประโยชน์ในด้านของการดูแลปัญหาริ้วรอยตื้นๆ ปัญหาสิว และสีผิวไม่สม่ำเสมอ

AHA 3 ชนิด คือ Glycolic acid, Lactic acid และ Citric acid คู่กับ Sodium citrate ซึ่งตรงนี้ไม่แน่ใจว่าหวังผลผลัดผิวด้วยหรือไม่ หลักๆ ก็จะเด่นเรื่องเติมน้ำ ให้ความชุ่มชื้นผิว

Panthenol หรือ โปรวิตามินบี 5 ซึ่งเด่นในด้านของการลดการอักเสบระคายเคือง ให้ความรู้สึกสบายผิว และเพิ่มความชุ่มชื้น

Betaine เป็นอนุพันธ์ของกรดอะมิโน Glycine มีคุณสมบัติในด้านของการดูแลปัญหาเรื่องการระคายเคืองของผิวเช่นเดียวกัน

Zinc PCA เป็นสารผสมของ PCA กับ Zinc ซึ่งข้อมูลของผู้ผลิตวัตถุดิบกล่าวว่า นางมีประโยชน์ในการเพิ่มความชุ่มชื้นผ่านการเติมน้ำให้ผิว พร้อมกับควบคุมความมัน และ ดูแลปัญหาเรื่องริ้วรอยและชะลอวัยไปพร้อมๆ กัน

ส่วนผสมอื่นๆ ก็ถือว่าเลือกมาได้ค่อนข้างดีนะคะ เพราะมีอยู่เท่าที่จำเป็น และไม่มีสารที่ไม่เป็นมิตรกับผิว

Disclaimer: ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับมาจากทางแบรนด์ในรูปแบบของของขวัญ การรีวิวครั้งนี้เป็นการวิเคราะห์ส่วนผสม/วัตถุดิบตามหลักการทางวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางและอาศัยความเห็นส่วนบุคคล ผู้เขียนไม่ได้มีผลประโยชน์ใดๆในการขายสินค้าและไม่ได้รับค่าตอบแทนในการรีวิว โปรดใช้วิจารณญาณ