สวัสดีค่ะ วันนี้ขอมาเล่าและอัพเดทเรื่องของ ผลกระทบของหน้ากากอนามัย หรือ Mask ที่มีต่อผิวพรรณนะคะ
ถามว่าเราต้องใส่ Mask ไหม ต้องใส่ค่ะ เพื่อปกป้องตัวเองจากไวรัสตัวร้าย
แน่นอนว่าถ้าเราใส่ Mask นานๆ Mask ก็ทำร้ายผิวเราได้หลายอย่างนะคะ โดยเฉพาะ Mask ที่มีความสามารถในการกรอง หรือการป้องกันผิวดีๆ มันก็จะยิ่งทำร้ายผิวเราได้มาก
ไม่น่าเชื่อว่า เคยมีคนสำรวจอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการใส่ Mask มาพักใหญ่ๆแล้วค่ะ มีขอยกตัวอย่างงานชิ้นหนึ่ง ของ Foo และคณะ เมื่อปี 2006 ช่วงนั้น SARS ระบาดพอดี นักวิจัยทีมนี้เขาสำรวจอาการไม่พึงประสงค์ของบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาล 322 คน ที่สิงคโปร์ ว่ามีอาการไม่พึงประสงค์อะไรบ้างหลังจากใส่ Mask N95 ถุงมือ และชุด PPE ไปนานๆ ซึ่งวันนี้เราขอ Focus ที่ Mask นะคะ
ปัญหาใหญ่ของบุคลากรเหล่านี้คือ เกือบ 60% พบว่า N95 ทำให้มีสิวขึ้น รองลงมาคือ ราวๆ 51% พบว่า ทำให้เกิดอาการคัน และ ราวๆ 36% ทำให้เป็นผื่นขึ้นค่ะ
อาการอื่นๆที่นักวิจัยพบในกลุ่มนี้เช่น ผิวแห้ง มีอาการแดง ระคายเคือง รูขุมขนกว้างขึ้น (อันนี้ดิฉันประสบอยู่) ผิวลอก น้ำมูกไหล และ มีรอยแผลเป็น/รอยแดงที่บริเวณจมูกจาก Mask ที่กดทับ
อาการเหล่านี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
มีการคาดคะเนว่า อุปกรณ์พวกนี้มันทำให้การระเหยของเหงื่อ เกิดขึ้นได้น้อยลง ความชื้นเพิ่มขึ้น มีการสะสมตัวของความร้อนในบริเวณนั้น และก็เวลาที่เราพูด มันเกิดการเสียดสี ซึ่งปฏิกิริยาเหล่านี้มันจะไปทำให้ผิวหนังของเราเกิดการอักเสบขึ้นมาได้ มีชื่อเรียกโรคผิวหนังอักเสบที่เกิดจากการเสียดสี ความร้อน ความอับชื้น การระบายอากาศที่ไม่ดี และความชื้น ว่า intertrigo หรือ intertriginous dermatitis
นอกจากนี้การใส่ Mask เป็นเวลานานๆยังเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อบนผิว และยิ่งในช่วงที่เราหา Mask ได้ค่อนข้างยาก เราก็อาจจะใส่ซ้ำ ซึ่งมันจะมีอาหาร เป็นพวกเศษผิว เหงื่อ ไขมัน ที่ติดออกมาจากผิวเราสะสมตัวอยู่บน Mask ทำให้เชื้อจุลินทรีย์ต่างๆโตขึ้น พอเอา Mask มาแปะหน้าก็เหมือนเอาจุลินทรีย์มาเพาะเลี้ยงในบรรยากาศที่อุ่น ชื้น และมีอาหารพร้อม เรียกได้ว่าเป็นสภาพที่สมบูรณ์แบบมากเลยค่ะ
N95 หรือ N99 ที่แนบสนิทกับผิวแน่นๆ จะไปกดทับบริเวณสันจมูก ซึ่งบริเวณนี้เป็นบริเวณที่ผิวค่อนข้างบาง ทำให้เกิดผิวหนังอักเสบจากการกดทับ อารมณ์คล้ายๆแผลกดทับ แต่ไม่ได้รุนแรงถึงขั้นนั้นค่ะ อันนี้มีชื่อเรียกว่า Pressure-induced dermatitis
อาการอื่นที่อาจพบได้จากการใส่ Mask คือ ปัญหารอยช้ำ และ จุดด่างดำค่ะ เพราะเมื่อมีการอักเสบก็จะไปเหนี่ยวนำให้เกิดการสร้างเม็ดสี Melanin เพิ่มขึ้น
การใส่ Mask ยังทำให้เกิดสภาวะเคลือบผิว หรือ Occlusive ซึ่งมีผลทำให้ความชื้นในผิวเพิ่มขึ้น และมีผลเพิ่มการดูดซึมของสารบางชนิดเข้าสู่ผิว ดังนั้นถ้าเราทาครีม หรือ แต่งหน้า ไว้ใต้แผ่น Mask ก็มีโอกาสที่สารเหล่านั้นจะซึมเข้าผิวได้มากขึ้น ทำให้เกิดการแพ้และระคายเคืองได้ง่ายขึ้นด้วย
Mask กระดาษ หรือ Mask ผ้าเองก็ทำให้เกิดสิว และผิวอักเสบต่างๆได้นะคะ
โดยความแรงของการ Occlusive ขึ้นกับชนิดของวัสดุที่เอามาทำ Mask ด้วยนะคะ ส่วนตัวคิดว่า ยิ่งวัสดุนั้นป้องกันผิวได้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่ง Occlusive มากเท่านั้น ลองหายใจผ่าน Mask ดูค่ะ ถ้าไม่มีไอน้ำอุ่นๆ หรือลมหายใจอุ่นๆของเราลอดออกมาจาก Mask คือ ก็ยิ่ง Occlusive มาก
ยิ่ง Occlusive มาก ก็ยิ่งทำร้ายผิวมากค่ะ
อีกจุดที่ควรระวังคือ ถ้ากรณีเราแพ้ยางยืด (พวก Latex) แพ้กาว แพ้สี (สีย้อมผ้าที่เอามาทำ Mask) ก็อาจจะต้องระวังค่ะ เพราะในการผลิตแผ่น Mask เหล่านี้ อาจจะมีสารที่ทำให้เราแพ้ได้ ดังนั้นถ้าแพ้ก็เลือกวัสดุที่เราใช้แล้วไม่แพ้นะคะ
ขอปิดท้ายด้วยการดูแลผิวในช่วง COVID-19 ที่เราต้องใส่ Mask กันนานๆนะคะ
ส่วนตัวมีความเห็นดังนี้ค่ะ
- ควรใช้ Skincare หรือ ครีมที่ฟื้นฟู Barrier ผิว โดยให้ทาทั้งเช้าและเย็น เช่น ครีมที่มีส่วนผสมของพวก Ceramide หรือ น้ำตบที่มี NMF (Natural moisturizing factor) หรือสารที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้แก่ผิวชั้นนอก เช่นพวก Pre/Pro/Post biotic (อันนี้เดี๋ยวจะมาเล่าต่ออีกทีค่ะ) หรือ สารที่เพิ่มความแข็งแรงให้แก่ Cornified envelope ที่เป็นเปลือกโปรตีนหุ้มเซลล์ผิวเราไว้อีกที อย่างตอนนี้สกินแคร์จากญี่ปุ่นหลายชิ้น เริ่มเน้นการออกฤทธิ์ไปที่ Cornified envelope แล้วค่ะ
- ถ้าอยู่ในสถานที่ที่เป็นส่วนตัว ควรถอด Mask เพื่อระบายอากาศบ้าง
- ไม่ใส่ Mask ซ้ำ เกิน 1 – 2 วัน ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ เอาจริงหมดวันก็ทิ้งเถอะค่ะ
- การซัก Mask ผ้า ควรตรวจสอบให้เรียบร้อยว่า ซักสะอาด ไม่มีพวกผงซักฟอก หรือสารทำความสะอาดตกค้าง
- ก่อนนอน ให้ทำความสะอาดผิวด้วย Cleanser ที่เหมาะสม หรือ ใช้ Double clean technique
- อาจใช้ BHA/AHA เพื่อผลัดผิว ลดการอุดตันที่อาจเกิดขึ้น ลดโอกาสในการเกิดสิว
- บำรุงผิวด้วยผลิตภัณฑ์ตามข้อ 1 ก่อนนอน
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ผัก ผลไม้ ที่มีสีสัน เขียว เหลือง แดง ส้ม ฯลฯ หรือเสริมวิตามิน/เครื่องสำอางที่เป็น Antioxidant
©สงวนลิขสิทธิ์ทุกข้อความและภาพในบทความฉบับนี้ตามพรบ.ทรัพย์สินทางปัญญา
References
- Foo, et al. (2006) Contact dermatitis. 55:291-294.
- Stokowski, LA. (2020). A Step-by-Step Guide to Preventing PPE-Related Skin Damage. From https://www.medscape.com/viewarticle/929590
- Mann, D. (2020). Do these 5 things to protect your skin from the downsides of face masks, doctors say. From https://www.cnbc.com/2020/05/13/rash-irritation-downsides-face-masks-how-to-protect-skin-according-to-doctors.html