Image

รีวิว/วิเคราะห์ส่วนผสม เซรั่มดูแลฝ้า ตัวตึง Game changer แห่งวงการ Cysteamine กับ Alphascience Melabright [C+]

ในที่สุดก็ได้เวลามารีวิว/วิเคราะห์ส่วนผสม Melabright เซรั่มดูแลฝ้าตัวตึงในตำนานจากแบรนด์ Alphascience ที่ได้นำมาเล่า มาโปรยไปตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาซักทีค่ะ

เอาล่ะ ไม่พูดเยอะ เริ่มเลย

น้องจะมาในกล่องที่มีหน้าตาที่เป็น Signature ของแบรนด์ ประมาณนี้นะคะ

ตัวเซรั่มจะมาในแพคเกจแก้วทึบแสงสีขาวขุ่น พร้อมหลอดหยด

เนื้อเซรั่มมีความหนืดเล็กน้อย สีคล้ายชา มีกลิ่นเฉพาะตัวของวัตถุดิบ และสารสำคัญอย่าง Cysteamine ที่เป็นกลิ่นโทน Sulfur (อารมณ์แบบน้ำพุร้อน)

เกลี่ยได้อยู่ ให้ฟีลหนึบๆ นิดหน่อย ซึ่งมาจากเบสที่ใช้ เป็นพวก Humectant solvent อย่าง propylene glycol, isopentyldiol ที่มีความหนึบๆ ตามธรรมชาติ

น้องจะใช้เวลานิดหน่อยในการซึมค่ะ ตรงนี้จะเป็นภาพถ่ายแฟลชของเนื้อเซรั่มหลังเกลี่ย

ค่า pH วัดด้วยกระดาษวัด pH (Universal indicator) อยู่ที่ราวๆ 3 – 4 อาจจะมีคลาดเคลื่อนได้เล็กน้อยเนื่องจากเซรั่มเองก็มีสีค่ะ

ส่วนผสมเป็นดังนี้ค่ะ

สำหรับส่วนผสมวันนี้มีที่น่าสนใจอยู่หลายตัวค่ะ

Cysteamine HCl แทนด้วยสีน้ำเงิน

น้องเป็นนางเอกของผลิตภัณฑ์เลย โดย Cysteamine นี่ ร่างกายเราจะมีอยู่แล้วค่ะ เป็นผลพลอยได้มาจากการสลายตัวของ Coenzyme A เป็น วิตามินบี 5 (Pantothenic acid) กับ Cysteamine

ซึ่งตัวของ Cysteamine มีประโยชน์และมีคุณสมบัติที่ดีหลายประการเลยสำหรับร่างกายของเรา คือ เป็น Antioxidant ที่ดี ช่วยดูแลสมดุลการสร้างและกำจัดอนุมูลอิสระ (Redox homeostasis) ให้แก่ร่างกายเรา

ในด้านของผิวพรรณนั้น Cysteamine เป็น Whitening ที่ดีผ่านหลายกลไก ไม่ว่าจะเป็น

  • การยับยั้งเอนไซม์ Tyrosinase ที่เป็นตัวการในการสร้างเม็ดสี Melanin
  • ยับยั้งเอนไซม์ Peroxidase ที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเม็ดสีชนิด Eumelanin ที่มีสีเข้ม
  • ผลัดผิว
  • ปกป้อง Glutathione ใน Melanocyte ซึ่งมีผลไปส่งเสริมให้ Melanocyte สร้างเม็ดสีอ่อนที่ชื่อ Pheomelanin
  • ต่อต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งจะไปกระตุ้นให้ Melanocyte ทำงานมากขึ้น
  • จับกับอิออนโลหะ ซึ่งมีผล 2 แบบ
    • แบบแรก อิออนโลหะจะไปกระตุ้นให้เกิดอนุมูลอิสระผ่าน Fenton reaction แล้วไปกระตุ้นให้ Melanocyte ทำงานมากขึ้น เมื่ออิออนโลหะโดนจับไว้ โอกาสเกิดอนุมูลอิสระก็จะน้อยลง
    • แบบที่สอง ไปจับกับอิออนโลหะ Copper ที่จำเป็นในการทำงานของเอนไซม์ Tyrosinase ซึ่งทำให้ Tyrosinase ทำงานไม่ได้

Cysteamine เป็นสารที่พบว่ามีประสิทธิภาพในการเป็น Whitening ที่ดีมาหลายปีดีดักแล้ว แต่มีปัญหาหลายอย่าง หลักๆ คือ เรื่องของความไม่คงตัว และกลิ่นของ Sulfur

แต่ในระยะหลังๆ มานี้ วงการเครื่องสำอางก็พบเจอวิธีที่สามารถเพิ่มความคงตัวให้กับ Cysteamine ได้หลายแบบ เลยมีความสนใจ และนำกลับมาศึกษาในการทดลองทางคลินิกหลายฉบับ เทียบกับสารมาตรฐาน (Gold standard) ในการรักษาฝ้าของแพทย์ผิวหนัง อย่าง Hydroquinone แล้วพบว่าให้ผลดีใกล้เคียงกัน และมีแนวโน้มว่าจะปลอดภัยกว่า แต่ก็เจอปัญหาเรื่องการระคายเคืองที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และเรื่องกลิ่น เลยเป็นรูปแบบใช้แล้วล้างออก

จากการรวบรวมและวิเคราะห์งานวิจัยแบบ Systematic review โดย Ahramiyanpour และคณะ (2021) ที่รวบข้อมูลจากงานวิจัยเกี่ยวกับการทดสอบประสิทธิภาพของ Cysteamine ในอาสาสมัครที่เป็นฝ้า 8 ฉบับ พบว่า Cysteamine มีประสิทธิภาพในการลดจำนวนเม็ดสีผิว และอาสาสมัครมีความพึงพอใจในผลการใช้งาน (J Cosmet Dermatol. 2021;20:3593–3602.)

สำหรับประเด็นเรื่องความคงตัวของ Cysteamine นั้น ในสูตรของ Melabright ทาง Alphascience นี้ เขามีนวัตกรรมสิทธิบัตรที่เพิ่มความคงตัวให้แก่ Cysteamine ได้ ที่ระดับความเข้มข้น 3% และดูแลเรื่องความระคายเคืองได้ในระดับหนึ่ง จึงพัฒนาเป็นตำรับร่วมกับสารบำรุงอื่นๆ ที่ใช้แล้วสามารถทิ้งไว้บนผิวได้เลย โดยไม่ต้องล้างออก ซึ่งถือว่ามีความน่าสนใจมากเลยทีเดียว และสูตรผสมนี้มีการศึกษาเบื้องต้น (Pilot study) ในการดูแลฝ้าเทียบกับ Hydroquinone แล้วพบว่ามีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน

ซึ่ง Pilot study นี้ เป็นการทดสอบแบบแบ่งครึ่งใบหน้า เปรียบเทียบระหว่าง Melabright กับ Hydroquinone 4% ในอาสาสมัครจำนวน 25 คน เป็นเวลา 2 เดือน พบว่าให้ประสิทธิภาพที่ไม่ต่างกัน และไม่เกิดการระคายเคืองในอาสาสมัคร และยังได้ประโยชน์ในด้านของรูขุมขนกระชับขึ้น ความมันลดลง และริ้วรอยที่ดูตื้นขึ้น เสริมเข้ามา

สารบำรุงถัดมาเป็นกลุ่มสีชมพู ได้แก่

  • วิตามินซี ซึ่งใช้ในรูปแบบของ Ascorbic acid ที่ความเข้มข้น 8% ที่เสริมความคงตัวโดยเทคโนโลยีสิทธิบัตรของทาง Alphascience ที่ชื่อ Nextgen technology ผ่านระบบการปกป้องสารไม่ให้เกิดการแตกตัว (Ionization stabilization) ในสารละลาย และสามารถย้อนการแตกตัวของสารต้านอนุมูลอิสระกลับมาในรูปแบบที่ไม่แตกตัว ซึ่งมีความคงตัวสูงกว่า ช่วยปกป้องทั้งตัววิตซีเอง และ Cysteamine ให้คงตัวอยู่ได้

สำหรับประโยชน์ของวิตามินซีนั้นมีด้วยกันหลายประการ ได้แก่

  1. ยับยั้งเอนไซม์ Tyrosinase ที่สร้างเม็ดสีเมลานิน
  2. เป็น Antioxidant ที่ดี
  3. เป็นส่วนหนึ่งในการสังเคราะห์คอลลาเจนตามธรรมชาติของผิว
  4. ดูแลเรื่องการอักเสบระคายเคือง

สารสกัดจากใบแปะก๊วย (Ginkgo biloba leaf extract) เป็นสารสกัดเก่าแก่สารหนึ่งในวงการเครื่องสำอาง มีประโยชน์กับผิวหลายประการเช่นกัน

  • ประกอบด้วยสารในกลุ่ม Polyphenol และ Flavonoids หลายชนิด ที่ให้คุณสมบัติเป็น Antioxidant ที่ดี
  • การทดลองในหนูทดลองพบว่า เมื่อทาสารสกัดจากแปะก๊วย (ที่สกัดด้วย 50% ethanol) ให้ประโยชน์ในการปกป้องผิวจากรังสี UV และเสริมการสร้างเอนไซม์ที่เป็น Antioxidant ตามธรรมชาติในผิวอย่าง Superoxide dismutase (SOD) และ Catalase (Methods Find Exp Clin Pharmacol. 1997 Jul-Aug;19(6):367-71.)
  • ในใบแปะก๊วย มีสารพฤกษเคมีกลุ่ม Biflavone ที่ชื่อ Ginkgetin มีรายงานว่ามีคุณสมบัติในการลดการอักเสบระคายเคืองได้ผ่านหลายกลไก เช่น ยับยั้งเอนไซม์ Phospholipase A2;PLA2 (ซึ่งเป็นตัวแม่สุดเมื่อผิวเกิดความเสียหาย PLA2 จะไปย่อยไขมันฟอสโฟไลปิดที่เป็นองค์ประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ ได้กรดไขมัน Arachidonic acid ที่จะแประสภาพต่อไปผ่านเอนไซม์ Cyclooxegenase และ Lipoxygenase ทำให้เกิดสารที่นำไปสู่การอักเสบต่างๆ) ลดการสร้างเอนไซม์ Cyclooxgenase ซึ่งส่งผลต่อไปให้การสร้างสารก่อการอักเสบลดลง และการทดสอบในหนูทดลองพบว่า การทา Ginkgetin ลดการอักเสบของผิวหนังได้ (Planta Med. 2002;68(4):316-21.) การทดสอบในเซลล์ภูมิคุ้มกัน Mast cell ของหนู ระบุว่า Ginkgetin ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Cyclooxegenase และ Lipoxygenase ซึ่งมีผลลดการอักเสบ (Biol Pharm Bull. 2005;28(12):2181-4.)
  • ปกป้องคอลลาเจน โดยไปยับยั้งเอนไซม์ MMP-1 ที่ไปย่อยสลายคอลลาเจน และสาร Ginkgolide A และ bilobalide ยังอาจมีคุณสมบัติเสริมการสร้างคอลลาเจน (Food Sci. Technol (Campinas). 2020;40(2))

สรุป สารสกัดจากใบแปะก๊วยดูแลผิวได้หลายด้าน ในแง่ของการดูแลเรื่องการอักเสบระคายเคือง ให้ความรู้สึกสบายผิว ต่อต้านอนุมูลอิสระ ปกป้องผิวจากรังสี UV และ ดูแลเรื่องริ้วรอย

  • Phytic acid เป็นสารที่มีประโยชน์หลายประการ ใช้เป็นสารจับโลหะในสูตรเครื่องสำอาง ใช้เสริมฤทธิ์กับ Antoxidant อื่นในสูตรเพื่อเสริมความคงตัวให้แก่ตำรับ ใช้เป็นสารบำรุงก็ดี ในแง่ของการบำรุงผิว Phytic acid มีฤทธิ์เป็น Antioxidant มีคุณสมบัติเป็น Whitening โดยไปจับ Copper ของเอนไซม์ Tyrosinase ทำให้การสร้างเม็ดสีเกิดขึ้นได้น้อยลง

Acetyl glycyl beta-alanine

          ตัวนี้เป็นเปปไทด์ที่รู้จักในชื่อทางการค้าว่า Genowhite ข้อมูลจากทางผู้ผลิตวัตถุดิบระบุว่าสารนี้มีคุณสมบัติในด้าน Whitening ผ่านหลายกลไก

  1. ลดการสร้างเม็ดสีผิวผ่านการยับยั้งตัวตั้งต้น MITF ที่จะไปกระตุ้นให้มีการสังเคราะห์เอนไซม์ Tyrosinase
  2. ลดการสร้าง Endothelin-1 ที่สร้างออกมาจากผนังหลอดเลือด ซึ่งจะไปกระตุ้นให้เซลล์สร้างเม็ดสี สร้างเมลานินออกมา
  3. ลดการส่งผ่านเมลานินที่สร้างเสร็จแล้วไม่ให้ออกไปข้างนอก (Melanosome transfer) ผ่านการลดการสังเคราะห์โปรตีน Melanophillin ที่เป็นตัวสำคัญในขั้นตอนนี้

(Image from Corum)

มีการศึกษาในอาสาสมัครโดยบริษัท พบว่าสาร Genowhite มีความสามารถในการดูแลจุดด่างดำตามอายุ (Age spot)

สำหรับตัวเบส(เนื้อหลักของผลิตภัณฑ์) จะเป็น Humectant solvent เป็นเบสหลัก เพื่อเสริมความคงตัวให้แก่ Vitamin C อาจจะมีความหนึบๆ หรือกระตุ้นการระคายเคืองได้ในคนที่พึ่งเริ่มใช้ ความเห็นส่วนตัวคิดว่า อาจจะใช้วิธีผสมกับครีม/เซรั่มอื่นที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว วอร์มบนมือ แล้วทาบนใบหน้า เพื่อให้ผิวปรับสภาพ ก่อนที่จะค่อยๆ เพิ่มปริมาณแล้วลงผิวได้เลย

ในด้านของลำดับการลง (Skincare regimen) อาจจะเอาไว้หลังเสร็จกลุ่มน้ำ ก่อนทาน้ำนม ก็ได้อยู่

ส่วนผสมอื่นๆ ขอกล่าวถึงส่วนของสารสีเขียวที่ทำไว้อย่าง Isopentyldiol และ Etoxydiglycol นั้นมีคุณสมบัติเป็น Penetration enhancer ที่เสริมการซึมผ่านของสารบำรุงเข้าสู่ผิว

และมีระบบบัฟเฟอร์อย่าง Citric acid กับ Sodium citrate ที่ช่วยควบคุมค่า pH ของตำรับให้คงที่เพื่อเสริมความคงตัว

นอกจากนั้น ส่วนผสมที่เหลืออื่นๆ ก็เลือกมาเท่าที่จำเป็น และไม่มีสารที่ไม่เป็นมิตรกับผิว

มาให้คะแนนกันดีกว่าค่ะ

  1. สารบำรุง เน้นไปที่การดูแลเรื่องการสร้างเม็ดสีผิวเป็นหลัก ที่เสริมฤทธิ์กันผ่านหลายเสต็ปในการสร้างเม็ดสีผิว เสริมมาด้วยการดูแลเรื่องการระคายเคืองผิว ต่อต้านอนุมูลอิสระ ดูแลเรื่องริ้วรอย และปกป้องผิวจาก UV ให้ไป 5 ฟลาสก์
  2. ส่วนผสมอื่นๆ ไม่มีสารที่ไม่เป็นมิตรกับผิว และสารอื่นที่ใส่มาก็คือผ่านการเลือกมาเป็นอย่างดี เลยไม่มีจุดที่ให้หักคะแนน รับไป 5 ฟลาสก์
  3. การใช้งาน ในเรื่องของเนื้อเบสที่มาใน Humectant solvent นั้นอาจจะหนึบๆ ไม่ค่อยถูกใจเท่าไหร่ แต่ถ้าลงเซรั่มอื่นๆ เรียบร้อยแล้ว ทาเสร็จแล้วทาครีมทับ หรือผสมลงครีมแล้ววอร์มก่อนทาก็ถือว่าพอได้อยู่ค่ะ สำหรับเรื่องกลิ่น ส่วนตัวเป็นคนที่คุ้นชินกับกลิ่นของสาร Sulfur อยู่แล้ว เลยไม่ได้รู้สึกว่าเป็นปัญหาอะไร ในด้านของสีผิว ส่วนตัวไม่ได้มีปัญหาฝ้าหรือจุดด่างดำ หรือปัญหาสีผิวไม่สม่ำเสมอมากนัก แต่ได้ใช้แล้วก็รู้สึกว่าผิวเรียบ ละเอียด และแต่งหน้าได้ติดทนนานมากขึ้น ให้ไป 5 ฟลาสก์

สุดท้ายนี้ขอขอบคุณทางแบรนด์ AlphaScience สาขาประเทศไทยด้วยนะคะ ที่จัดส่งสินค้าดีๆ มาให้ได้ทดลองใช้ และขอบคุณทุกท่านด้วยค่ะที่ติดตามรับชมมาจนจบ

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ทางแบรนด์โดยตรงได้เลยค่ะ

https://www.facebook.com/AlphascienceThailand

สำหรับท่านที่สนใจสามารถติดตามเข้าไปดูที่ Official mall ได้ตามลิงค์ด้านล่างนี้ได้เลยค่ะ

Lazada: https://s.lazada.co.th/s.kxDUd?cc

Shopee: https://shope.ee/2VPWX5CBZK

Disclaimer: ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับการสนับสนุนจากทางแบรนด์ AlphaScience สาขาประเทศไทย การรีวิวครั้งนี้เป็นการวิเคราะห์ส่วนผสม/วัตถุดิบตามหลักการทางวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางและอาศัยความเห็นส่วนบุคคล และผู้เขียนไม่ได้มีผลประโยชน์ใดๆในการขายสินค้า โปรดใช้วิจารณญาณ

Leave a comment