#BeautyTalk ต้อนรับลอยกระทงและฮาโลวีน
เรื่องมีอยู่ว่า มีสกินแคร์ชิ้นหนึ่ง ที่เรารักมากกกกกกกกกก ไม่ว่าจะเป็นกลิ่น เนื้อสัมผัส ประสิทธิภาพ
แต่ใช้ไปใช้มา อยู่มาวันหนึ่ง พอโบกเข้าไปแล้วรู้สึกแสบมากๆ ตรงบริเวณแก้ม กับรอบจมูก
พยายามดูส่วนผสม ก็ยังคงเดาไม่ออกแหละ ว่าเกิดจากสารตัวไหน
ไม่บอกชื่อละกันเนาะ ว่าน้องเป็นใคร มาจากไหน ลด Bias
ดังนั้นวันนี้จะมาเล่า (บ่น) ให้ฟังว่า “การอ่านส่วนผสมเครื่องสำอางก่อนเริ่มใช้ บางทีก็ป้องกันอาการไม่พึงประสงค์ได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอกนะ”
อ้าว ทำไมหละ?
ถามเองตอบเอง
เพราะ
1. อาการไม่พึงประสงค์หลายชนิด ขึ้นกับความเข้มข้นของสารในผลิตภัณฑ์ตัวอย่างการระคายเคือง แสบ แดง คัน ร้อน บวม พวกนี้จะขึ้นกับความเข้มข้นโดยตรงเลยค่ะ
อย่างเช่น อันนี้เคยมีคนถามเข้ามาจริงๆ นะ
“Sodium hydroxide” ในส่วนผสมเครื่องสำอาง คุณมี่ขา Sodium hydroxide คือ โซดาไฟไม่ใช่หรอคะ มันจะไม่กัดผิวหรอการระคายเคืองขึ้นกับความเข้มข้นของเนื้อสาร ถ้าในพวกครีม เรียกได้ว่าแทบจะเป็นวิญญาณเลย เพราะเขาใส่มาปรับค่า pH ให้เหมาะสมเฉยๆค่ะ ใช้น้อยมาก แทบจะไม่รู้สึกอะไร
การอุดตันรูขุมขน การเกิดสิว พวกนี้ก็ขึ้นกับความเข้มข้นของสารเหมือนกันค่ะ
เคยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งนานมากแล้ว (จำไม่ได้แล้วด้วยว่าไปอ่านมาจากที่ไหน แต่จำได้ติดหัวเลย) กล่าวว่าน้ำมันจากพืช (ซึ่งสามารถอุดตันรูขุมขนได้ในคนที่ Sensitive) ในความเข้มข้น 5 – 10% นั้นแทบไม่ทำให้เกิดการอุดตันเลย
แต่อย่างว่าค่ะ ความไวแต่ละคนไม่เท่ากันเนอะ บางคนเจอนิดเดียว สักพักสิวก็บุกแล้วค่ะ
2. ถ้าเป็นการแพ้*** อันนี้ไม่ขึ้นกับความเข้มข้นสารนะคะ การแพ้เกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันของร่างกายเรา
ถ้าบทมันจะแพ้ ภูมิเราจะไว ใส่ในผลิตภัณฑ์เป็นวิญญาณ ผื่นแพ้ก็บุกได้จ้า
3. การตอบสนองแต่ละคนไม่เหมือนกัน
ประเด็นนี้สำคัญมากๆ ค่ะ เพื่อนแพ้ ไม่ได้แปลว่าเราจะแพ้ เพื่อนใช้แล้วสวย ไม่ได้แปลว่าเราจะสวยเหมือนเพื่อน
และ ถ้าเป็นสารหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยใช้มาก่อน หรือ มีสารใหม่ๆ ที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน อันนี้ตอบไม่ได้เลย ฟันธงไม่ขาด ว่าจะแพ้ไหม อุดตันไหม ระคายเคืองไหม
ความไวของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน
ดังนั้นจะบอกว่า อันนี้มีสารนั้น แบนค่ะ ห้ามใช้ อันนี้บ่ได้เด้ออออ (เสียงในฟิล์ม) สงสารน้องเครื่องสำอาง
4. การดูดซึมสารผ่านผิวในแต่ละคนไม่เหมือนกัน
การที่จะแพ้เครื่องสำอางนั้น สารจะต้องซึมไปลึกในระดับหนึ่งเพื่อไปทำปฏิกิริยากับระบบภูมิคุ้มกันของผิวหนัง ถ้าผิวหนังแข็งแรงมากๆ สารซึมลงไปไม่ได้ ก็ไม่แพ้จ้า
ทีนี้อีกปัญหาที่เจอได้คือ บางทีเราใช้ผลิตภัณฑ์ตัวหนึ่งไปเรื่อยๆ หลายปี ไม่เคยเป็นไรเลย
อยู่มาวันหนึ่งเกิดแพ้ขึ้นมา ทำไมกันนะ ?
อาจจะเป็นเพราะว่า สภาพอากาศ มลภาวะ อายุที่เพิ่มขึ้น หรือปัจจัยบางอย่างทำให้ Barrier ผิวเราบอบบาง เลยทำให้สารซึมลงไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ เลยแพ้ขึ้นมา ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนใช้มาตั้งนานไม่เห็นเป็นอะไรเลย
5. คนที่มีประวัติแพ้ มักจะแพ้สารชนิดเดิมเสมอ
เช่น เคยแพ้น้ำหอมกลิ่นดอกไม้หวานๆ นัวๆ ก็จะแพ้น้ำหอมกลิ่นนี้ตลอด เพราะว่า การแพ้มันเกิดผ่านระบบภูมิคุ้มกัน
ภูมิคุ้มกันของร่างกายเรานี่เก่งมาก นางจำได้หมดค่ะ ว่าอันไหนคือศัตรูของนาง พอเราเจอมันไม่ว่าจะกี่ครั้งก็ตาม ภูมิคุ้มกันจะจัดการเรียบตลอด ไม่เว้นหน้าเลยหละ
อีกอย่างที่พบได้คือ การแพ้ข้าม หรือ “Cross-reactivity” คือ การแพ้สารเคมีที่มีโครงสร้างคล้ายๆ กัน
มีเคสบ่อยมากๆ ที่บางคนที่เคยแพ้สารเพิ่มความชุ่มชื้นพวก Fatty ester ตัวหนึ่งอาจจะไปแพ้ Fatty ester ตัวอื่น อีกหลายๆ ตัว ที่มีหน้าตาคล้ายกันด้วย
6. โรคผิวหนัง และ สภาพผิว
คนที่มีปัญหาเรื่องโรคผิวหนังบางประเภท หรือ ผิวหนังบอบบาง ผิวแห้ง คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มเกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ง่ายกว่าคนที่มีผิวแข็งแรงสมบูรณ์ค่ะ
วันนี้ก็ขอเมาท์มอยกันแต่พองามแค่นี้ พบกันใหม่โอกาสต่อไปค่า️
Enjoy ลอยกระทง และ ฮาโลวีนในช่วงสุดสัปดาห์นี้นะคะ