Image

รีวิว/วิเคราะห์ส่วนผสมครีมดูแลสิว Effaclar Duo (+) จาก La Roche-Posay

สำหรับคอนเท้นท์นี้ขอมาอัพเดท รีวิวและวิเคราะห์ส่วนผสมของครีมดูแลสิวตัวดังอย่าง Effaclar Duo (+) (อ่านว่า เอฟฟาคลาร์ ดูโอ) จากแบรนด์ La Roche-Posay ประเทศฝรั่งเศสค่ะ

ผลิตภัณฑ์นี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เรียกได้ว่าพัฒนามาเพื่อตอบโจทย์คนที่มีปัญหาสิว และดูแลสิวได้ครบทั้งวงจรได้อย่างสมบูรณ์แบบ เสมือนเป็น John Wick แห่งการเก็บสิว

หน้าตาน้องเป็นประมาณนี้ค่ะ

ตัวแพคเกจมาแบบหลอดที่มีปากปลายแหลม ใช้บีบออกมาปริมาณน้อยๆ เพื่อแต้มก็ดี หรือจะวอร์มๆ แล้วทาทั้งหน้าก็ได้

เนื้อครีมมีลักษณะเป็นครีมสีขาว แม้ว่าจะมีรายการน้ำหอมเป็นส่วนประกอบ แต่ก็แทบไม่ได้กลิ่นของน้ำหอมมากวนใจเลย

เกลี่ยได้ง่าย ลื่น และ อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ เขาทำเนื้อมาได้ค่อนข้างดี ใช้แล้ว ทาแต้มๆ Tapๆ เบาๆ สักแปบน้องก็จะซึมลงไปแล้วให้ความแมทท์ ที่สามารถทาอย่างอื่น หรือแต่งหน้าต่อไปได้เลย

ก่อนไปดูส่วนผสมอยากให้ดูสาเหตุของการเกิดสิวก่อนนะคะ ปัจจุบันเราถือว่าสิวนี่เป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ หลายปัจจัยมากมาย แล้วก็เป็นปัญหาต่อเนื่องไม่จบไม่สิ้น สิวหาย ทิ้งรอยไว้ได้หลายแบบ ทั้งรอยแดง (เรียก Post-acne erythema; PAE) รอยดำจากการอักเสบ (Post-inflammatory hyperpigmentation; PIH) รวมไปถึงอาจจะเกิดรอยแผลเป็น ถ้าตอนเป็นสิวนั้นเป็นมากจนเกิดการทำลายโครงสร้างของรูขุมขนไป 

สำหรับครีมตัวนี้ทางแบรนด์ได้ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพในอาสาสมัครมา พบว่าอาสาสมัครที่ใช้ครีมเป็นเวลา 28 วัน (4 สัปดาห์) มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็น

  • สิวอักเสบลดลง
  • สิวอุดตันลดลง
  • รอยดำ รอยแดงจากสิวลดลง

และอีกจุดที่น่าสนใจคือ สามารถที่จะดูแลสิวไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ ได้อย่างยาวนานแม้จะหยุดใช้ยาสิวจากคุณหมอไปแล้ว อย่างน้อย 1 – 6 เดือน ส่วนหนึ่งอาจจะด้วยคุณสมบัติการดูแล Microbiome ของผิวให้สมดุล

ส่วนตัวนานๆ ที ถึงจะมีสิวโผล่มา แต่ถ้ามาแล้วก็คือกว่าจะหายทั้งตัวสิว รอยแดง รอยดำ นี่ยาวเลย

พอได้ลองใช้ก็คือสิวแห้งค่อนข้างไว การบวมก็ลดลงไว ความรู้สึกระคายเคืองตรงสิวก็น้อยลง ถ้าเทียบกับก่อนที่จะใช้

ภาพนี้จะเป็นหลังใช้ไป 3 ครั้ง ที่รู้สึกได้เลยว่า สิวแห้ง และยุบไปเกือบหมด อาจจะเหลือรอยแดงอยู่นิดหน่อย คงต้องใช้อีกซักระยะค่ะ

มาวิเคราะห์ส่วนผสมกันดีกว่า

ส่วนผสมเป็นดังนี้นะคะ

สำหรับส่วนผสมวันนี้แยกเป็นกลุ่มสีเหมือนเคยนะคะ 

เริ่มต้นที่สีน้ำเงิน จัดไว้ 2 ตัว ได้แก่ 

  • Niacinamide ที่มีประโยชน์ที่ดีกับผิวที่มีปัญหาสิวหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นด้านของการดูแลการอักเสบระคายเคือง เป็น Whitening ผ่านการยับยั้งการส่งผ่านเมลานินที่สร้างเสร็จแล้วไม่ให้ออกมาข้างนอก ซึ่งอาจจะให้ผลดีในแง่ของรอยดำจากสิวไปด้วย 
  • Mannose ดูเหมือนเป็นน้ำตาลธรรมดา ที่เพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว แต่ก็มีรายงานวิจัยใหม่ในปี 2023 นี้พบว่า Mannose นั้นดูแลเรื่องการอักเสบ/ระคายเคืองของผิว โดยมีการทดสอบในหนูทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นสะเก็ดเงิน พบว่าลดการสื่อสารระหว่างเซลล์ภูมิคุ้มกัน T-Helper cell กับเซลล์ผิว Keratinocyte ยังผลให้การอักเสบต่างๆ ลดลง ทั้งในรูปแบบรับประทานและแบบทาภายนอก (Int Immunopharmacol. 2023;118:110087.) ซึ่งก็อาจจะมีประโยชน์ในการดูแลความรู้สึกระคายเคืองจากสิว

ถัดมาเป็นกลุ่มของสารที่ควบคุมความมันบนผิว รวมไว้เป็นสีบานเย็น

  • สารที่ควบคุมความมันผ่านการกระชับรูขุมขน (Astringent effect) ลดการปลดปล่อยน้ำมันออกจากต่อมไขมัน คือ Zinc PCA ซึ่งนอกจากประโยชน์ในด้านนี้แล้ว น้องยังมีรายงานการวิจัยกล่าวว่า มีคุณสมบัติปกป้องพวกคอลลาเจนในผิวจากรังสี UVA ได้ในระดับเซลล์เพาะเลี้ยง โดยไปลดการสร้างเอนไซม์ MMP-1 ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำลายคอลลาเจนในผิวทำให้เกิดความหย่อนยานและริ้วรอย (Int J Cosmet Sci. 2012; 34(1):23-8.) ข้อมูลจากผู้ผลิตวัตถุดิบกล่าวว่า สารนี้มีประโยชน์เป็นสารเติมน้ำให้ผิว (Humectant) ระงับเชื้อบางชนิด ควบคุมความมัน ลดริ้วรอยและชะลอวัย (TDS Ajidew® ZN-100, Ajinomoto Ltd.)
  • กลุ่มสารที่ควบคุมความมันผ่านการดูดซับน้ำมันส่วนเกิน ได้แก่ Silica, Methyl methacrylate crosspolymer, Aluminium starch octenylsuccinate
    • สำหรับ Methyl methacrylate crosspolymer และ Silica นั้น นอกจากดูดซับความมัน ยังช่วยเบลอรูขุมขนให้ดูเล็กลงด้วยนะ

กลุ่มกรดอินทรีย์ที่ดูแลปัญหาสิว รวมไว้เป็นสีชมพูอ่อน

  • Salicylic acid ที่จัดเป็นสารในกลุ่ม BHA ลดการอุดตันภายในรูขุมขนโดยการไปสลาย Comedone (สิ่งอุดตัน) 
  • Capryloyl salicylic acid จัดเป็นสารในกลุ่ม Lipohydroxy acid หรือ LHA ซึ่งมีประโยชน์ในการผลัดผิวแบบอ่อนๆ ดูแลเรื่องการระคายเคือง และลดเลือนรอยดำจากสิว 

สีฟ้า 2-Oleamido-1,3-Octadecanediol ตัวนี้เป็นสารสิทธิบัตรของเครือ L’Oréal มีชื่อเล่นว่า ProceradTM ซึ่งเป็นสารในกลุ่มของ Ceramide นอกจากจะดูแล Barrier ผิวแล้ว น้องยังไปลดการสร้างเม็ดสีผิว ที่อาจจะมีประโยชน์ในการดูแลรอยดำจากสิวไปพร้อมๆ กัน 

เทียบโครงสร้างของ Procerad กับ แกนโครงสร้างหลักของ Ceramide จะเห็นว่ามีส่วนหัวที่เหมือนกัน

สีเขียว Vitreoscilla ferment filtrate มีงานวิจัยของ La Roche-Posay ทดสอบสารสกัดจากแบคทีเรีย Vitreoscilla filiformis ที่เลี้ยงในน้ำแร่ลาโรชโพเซย์ พบว่าสามารถกระบวนการสังเคราะห์ mRNA และ peptide ที่เป็นสารฆ่าเชื้ออกมาจากผิวได้มากขึ้น มีผลเพิ่มสาร Antioxidant และเอนไซม์ที่ช่วย Detox อื่นๆ จึงเป็นการเสริมสร้างระบบป้องกันตัวเองของผิว (Defense system) (Clin Cosmet Investig Dermatol. 2013; 6:191-6.) ทางแบรนด์เรียกว่าเป็น Aqua Posae Filiformis (ย่อว่า APF) ซึ่งมีประโยชน์ในการปรับสมดุลของ Microbiome และเสริมความแข็งแรงให้แก่ Barrier ผิว เมื่อนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์จะให้ประโยชน์ในการดูแลอาการคัน ระคายเคืองทั้งจากผิวแห้ง และจากปัญหาสิว จึงเรียกได้ว่า APF มีความน่าสนใจตัวหนึ่งเลยทีเดียว สำหรับการดูแลสิวผ่านทาง Microbiome และการระคายเคืองผิว

ปิดท้ายด้วยสีส้ม Piroctone Olamine สารที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งเชื้อยีสต์บางชนิด อย่างเจ้า Malassezia furfur (อีกชื่อคือ Pityrosporum ovale) เป็นยีสต์ที่อาศัยอยู่บนผิวเราตามธรรมชาติ กินไขมัน (Sebum) เป็นอาหาร ถ้ามีมากเกินไปก็อาจจะเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคผิวหนังบางชนิด เช่น Seborrheic dermatitis (เซ็บเดิร์ม) หรือรูขุมขนอักเสบ ที่เรียกกันในวงการว่าสิวยีสต์ (Malassezia (Pityrosporum) folliculitis, fungal acneiform) (J Clin Aesthet Dermatol. 2014; 7(3): 37–41.)

มันมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่พึ่งออกมาในปีนี้ ทีเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการปรับสมดุล Microbiome บนผิวของครีมสูตรผสม Aqua Posae Filiformis, lipohydroxy acid, salicylic acid, linoleic acid, niacinamide และ piroctone olamine เทียบกับ BP และกรดวิตามินเอ พบว่า Combination นี้สามารถปรับสมดุล Microbiome ให้มีความหลากหลายเพิ่มขึ้น แต่ในขณะที่ กลุ่มอาสาสมัครที่ใช้ BP และกรดวิตามินเอนั้นมีความหลากหลายของ Microbiome ที่ลดลง 

ปกติแล้วผิวที่สุขภาพดีจะมีความหลากหลายของ Microbiome อยู่สูง (คือมีเชื้อหลายชนิดอาศัยอยู่ร่วมกัน) (Wongtada et al. Exp Dermatol. 2023 Feb 26. doi: 10.1111/exd.14779.) นั่นก็แปลว่า สูตร combination นี้สามารถดูแลผิวให้มีสุขภาพดีได้นั่นเอง (แต่ในครีมรุ่นที่นำมารีวิวนี้ไม่มี Linoleic acid นะ แต่ ในซีรี่ส์ Effaclar บางชิ้นเป็น combination นี้ค่ะ)

ในภาพรวมส่วนผสมที่ทางแบรนด์เลือกใช้สามารถดูแลปัญหาสิวและปัญหากวนใจที่มากับสิวได้ครบจบทุกวงจรของการเกิดสิวเลยค่ะ ทางเราทำเป็นแผนภาพสรุปให้ประมาณนี้

ในส่วนของเนื้อครีมเบส และส่วนผสมอื่นๆ ก็ถือว่าทำมาได้ค่อนข้างดี ไม่มีส่วนผสมที่ไม่เป็นมิตรกับผิว และสูตรชุดนี้ผ่านการทดสอบการระคายเคืองและประสิทธิภาพในอาสาสมัครมาแล้ว

มาให้คะแนนกันดีกว่าค่ะ

  1. สารบำรุง เรียกได้ว่ามีอยู่ค่อนข้างหลากหลาย และดูแลผิวได้ผ่านหลายกลไกทั้งในทุกระดับของการเกิดสิว ตั้งแต่ก่อนเป็นสิว สิวขึ้น รอยสิว และการกลับเป็นซ้ำของสิว โดยจะค่อนข้างเด่นในแง่ของเรื่อง Microbiome และการดูแลเรื่องปัญหาการระคายเคืองผิว รอยแดง รอยดำ ให้ไป 5 ฟลาสก์
  2. ส่วนผสมอื่นๆ ไม่มีสารที่ไม่เป็นมิตรกับผิว เลยไม่มีที่ให้หักคะแนน รับไป 5 ฟลาสก์
  3. การใช้งาน ดังที่ได้เล่าไปในด้านบนว่า น้องทำมาได้ค่อนข้างดี ฟีลลิ่งดี ใช้แล้วให้ความแมทท์ แต่เป็นแมทท์ที่สบายผิว ไม่แห้ง ไม่ตึง ไม่แสบ แล้วสักพักสิวก็ยุบลงไป ส่วนตัวค่อนข้างชอบ และทางแบรนด์มีหลอดเล็กขนาด 7.5 ml อันนี้ส่วนตัวว่าเหมาะมาก สำหรับคนที่นานๆ สิวขึ้นที มาแต้มให้ยุบ แล้วแต้มต่อไปอีกสักระยะ แต่ถ้าใครที่สิวบุกบ่อย ก็สามารถเลือกขนาดปกติ 40 ml มาใช้เป็นประจำ อิงจากข้อมูลส่วนผสมและผลเทสต์ก็น่าจะได้ประโยชน์ในการดูแลให้สิวไม่กลับมาค่ะ ให้ไป 5 ฟลาสก์

สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณทางแบรนด์ La Roche-Posay สาขาประเทศไทยที่ส่งผลิตภัณฑ์ดีๆ เพียบพร้อมด้วยการศึกษา และมี Mechanism ที่น่าสนใจ มาให้ได้เปิดหูเปิดตา และขอบคุณทุกท่านที่ติดตามรับชมมาจนจบ

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ทางแบรนด์โดยตรงเลยนะคะ

Official facebook: @LaRochePosayThailand

(https://www.facebook.com/LaRochePosayThailand)

หรือท่านที่จะตามไปส่องสินค้าบน Official Mall ก็เรียนเชิญได้เลยค่ะ

ตัวสินค้ามีด้วยกัน 2 ขนาด หลอดเล็กสำหรับมือใหม่อยากลองใช้ 7.5 ml ราคา 199 บาท หลอดปกติ 40 ml ราคา 999 บาท (ราคาอาจเปลี่ยนแปลงตามโปรโมชั่น สำรวจราคาเมื่อ 8 เมษายน 2566)

LazMall https://invol.co/clhwfj7

Shopee Mall https://invl.io/clhwfjo

Disclaimer/Conflict of interest: ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับการสนับสนุนจากทางแบรนด์ La Roche-Posay ประเทศไทย การรีวิวครั้งนี้เป็นการวิเคราะห์ส่วนผสม/วัตถุดิบตามหลักการทางวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางและอาศัยความเห็นส่วนบุคคล และผู้เขียนไม่ได้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทเครื่องสำอางใดๆ โปรดใช้วิจารณญาณ