เชื่อว่าหลายๆท่านที่ติดตามข่าวเรื่องสิ่งแวดล้อม เคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับปะการังที่ถูกฟอกสีเพราะสารกันแดดบางชนิด และเมื่อปะการังถูกฟอกสี นั่นคือ ปะการังได้ตายจากเราไปแล้ว

(ปล.ปะการังในภาพเป็นเพียงภาพที่ใส่เข้ามาเพื่อประกอบบทความ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับปะการังที่ใช้ในงานวิจัย)
สำหรับวันนี้คงไม่ได้มาเล่าถึงประโยชน์ของปะการังในทะเลนะคะ แต่ว่าจะมาอัพเดทว่า ตอนนี้มีทีมนักวิจัยจากฝรั่งเศส ได้คิดค้นวิธีประเมินผลของสารกันแดด จำนวน 10 ชนิดต่อปะการัง โดยใช้ปะการังสายพันธุ์ Pocillopora damicorni มาเป็นตัวแทนค่ะ
ทีมงานตีพิมพ์ผลงานวิจัยดังกล่าวในวารสาร Nature Scientific Reports ซึ่งเป็นวารสารชั้นนำในวงการวิทยาศาสตร์ค่ะ
มี่สรุปให้ฟังคร่าวๆนะคะ
ทางนักวิจัยเริ่มจากไปเก็บปะการัง P. damicorni มาเพาะเลี้ยงในห้องแลป โดยใช้สภาวะการเลี้ยงแบบเดียวกับท้องทะเล แล้วให้ปะการังเลี้ยงเหล่านี้เจอกับสารกันแดด แล้ววัดสารกลุ่ม Steroid ที่ปะการังสร้างออกมาเมื่อมีความเครียด กับ สารก่อการอักเสบในกลุ่มของ Phospholipid บางตัว และกรดไขมัน Arachidonic acid ที่เป็นสารเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบค่ะ
โดยถ้ามีสารสองตัวนี้เพิ่มขึ้น แปลว่าปะการังมีความเสียหายมากขึ้นค่ะ
สารกันแดด 10 ชนิดที่ ทางนักวิจัยเลือกมา เป็นสารกันแดดในกลุ่มเคมีทั้งหมด ได้แก่
- Octocrylene
- Tinosorb M (Methylene bis-benzotriazolyl tetramethylbutylphenol)
- Benzophenone-3
- Avobenzone
- Uvinul A plus (Diethylamino hydroxybenzoyl hexyl benzoate)
- Octisalate
- Homosalate
- Tinosorb S (bis-Ethylhexyloxyphenol methoxyphenyl triazine)
- Diethylhexyl butamido triazone
- Octyl triazone
ผลการทดสอบในการทดลองนี้พบว่า Octocrylene (ซึ่งตัวนี้มักใช้คู่กับ Avobenzone เพื่อเพิ่มความเสถียรให้แก่ Avobenzone) เป็นพิษกับปะการังมากที่สุด โดยเหนี่ยวนำให้ปะการังสร้างสารกลุ่ม steroid และสารก่อการอักเสบเพิ่มขึ้น รวมถึงในความเข้มข้นสูง Octocrylene ยังไปทำให้ Mitochondria ซึ่งเปรียบเสมือนโรงไฟฟ้าของเซลล์ ทำงานผิดปกติไปด้วยอีกตะหาก
รองลงมาคือ Octisalate (Ethylhexyl salicilate)
สำหรับ Benzophenone-3 นั้นเป็นเหมือนสารมาตรฐาน เพราะมีงานวิจัยก่อนหน้าพบว่าสารนี้เป็นพิษต่อปะการังค่ะ
ส่วนสารกันแดดที่เหลืออีก 7 ตัว ไม่ได้มีผลกับปะการังเลี้ยงค่ะ
แต่ส่วนนี้เป็นการทดสอบในห้องปฏิบัติการ อาจจะไม่เหมือนกับในทะเลจริงๆก็ได้
ดังนั้น เวลาไปทะเล อย่าลืมมองหากันแดดที่เคลมเรื่องของ “Reef-safe” เพื่อรักษาปะการังของเราเอาไว้นะคะ

เอกสารอ้างอิง
Stein D., et al. (2020). Scientific Reports. 10(1). DOI:10.1038/s41598-020-66117-3